กรมวิชาการเกษตร ถกผู้บริหาร Alibaba Cloud ดันใช้เทคโนโลยี AI IoT พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ-ทำสวนผลไม้อัตโนมัติ

  •  
  •  
  •  
  •  
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรนำทีมหารือ ผู้บริหาร Alibaba Cloud เพื่อนำใช้เทคโนโลยี AI IoT พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เน้นการเพาะปลูก การจัดการแปลง การพัฒนาคุณภาพ ตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนผลไม้อัตโนมัติ

       นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมหารือกับ Mr. Tang Rixin รองประธานบริษัท Alibaba Cloud Computing จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba Group ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์สของจีน พร้อมคณะ เรื่องการใช้เทคโนโลยี AI IoT พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ การเพาะปลูก การจัดการแปลง การควบคุมคุณภาพ ระบบการจัดการการตรวจสอบผลผลิต และ การขยายฐานทางการตลาดให้กับผลไม้ไทยในจีน 


ทั้งนี้  Alibaba มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรอัจฉริยะที่หลากหลายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่แปลงปลูกของเกษตรกร ทั้งข้อมูลคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ การวางแผนการใส่ปุ๋ย การใช้เทคโนโลยี Remote Sensing ในการแจ้งเตือนโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งในขั้นแรก การดำเนินการเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องนำข้อมูลที่บันทึกไว้ในช่วงเวลา 30-50 ปีที่ผ่านมามาทำเป็นข้อมูล digital มาปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวหลังจากแปลงเป็น digital แล้ว ทางการสามารถพยากรณ์การปลูกพืชในอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งในอนาคตเกษตรกรจีนที่เคยมีหลายร้อยล้านคน จะลดจำนวนเหลือแค่หลายสิบล้านคน แต่ต้องผลิตอาหารให้ได้ปริมาณเท่าเดิม เพื่อเลี้ยงดูประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ภายใต้นโยบาย food security ดังนั้น เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้ เติมเต็มในส่วนนี้

นายระพีภัทร์  กล่าวว่า เทคโนโลยี AI IoT ที่ Alibaba นำมาหารือกับกรมวิชาการเกษตรในวันนี้  จะสามารถนำไปพัฒนาโมเดลการผลิตพืชอัจฉริยะที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนผลไม้อัตโนมัติ ที่จะทำให้ได้คุณภาพ ผลผลิต เพิ่มขึ้น ซึ่งก็อยากทำความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีกับประเทศไทย ตลอดจนการค้าขายผลไม้ระหว่างประเทศ ที่ บริษัทได้ลงทุนพัฒนาด้านฐานข้อมูลในระบบ Supply Chain  และระบบ Logistics เพื่อลดความสูญเสียของผลิตผล การรักษาคุณภาพสินค้า และบริหารจัดการในการเลือก Mode (ช่องทาง) ในการขนส่ง ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

       โดยมุ่งเน้นการผลิตภายใต้ความต้องการของตลาด สอดคล้องกับกรมวิชาการเกษตรที่ต้องการมี platform หรือ application ที่ช่วยลดความสูญเสียผลิตผล และแก้ไขปัญหาคอขวดในการส่งออก เพื่อให้ผลไม้ไทยส่งออกไปจีนยังคงรักษาคุณภาพและความสดได้ โดยการใช้ AI, Application หรือ Platform ต่างๆ ในการดูแลผลผลิตตั้งแต่แหล่งปลูกที่มีคุณภาพ จนถึงผู้บริโภค Platform เหล่านี้จะทำให้เกิดการกำหนดราคาสำหรับผู้บริโภคอย่างแม่นยำ และ เป็นการพัฒนาคุณภาพของการผลิตผลไม้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ ทางบริษัทมีการเก็บข้อมูลการบริโภคผลไม้ของชาวจีน ซึ่ง Alibaba ยินดีสนับสนุนข้อมูลให้กับประเทศไทยในโอกาสต่อไป

สำหรับการจัดการควบคุมคุณภาพผลไม้ไทย กรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย ตลาดนำการผลิต ตลาดนำการวิจัย ในปี 2565 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเข้าผลไม้จากประเทศไทย จำนวน 2.36 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 149,003 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตรจะเน้นคุณภาพของผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ที่ส่งออก อันดับที่ 1 ไปจีน ต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ  “Premium Thai Durian” ที่สามารถควบคุมคุณภาพ รวมไปถึงการจัดทำระบบตรวจสอบผลผลิต เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าผลไม้ไทยมีคุณภาพ และมีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตร ให้ความสำคัญในการให้คำแนะนำกับเกษตรกร โรงคัดบรรจุ เกี่ยวกับระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพที่มีการจัดการที่ดีตั้งแต่สวนจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะยังประโยชน์ให้แก่เกษตรกรชาวไทยให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งระบบสามารถมีผลประกอบการที่เติบโต และผู้บริโภคจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

“กรมวิชาการเกษตร เปิดกว้างสำหรับทุกบริษัท ทุกความร่วมมือ ของทุกภาคส่วน  ในการใช้เทคโนโลยี AI IoT พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ การเพาะปลูก การจัดการแปลง การขับเคลื่อนการพัฒนาควบคุมคุณภาพ ระบบการจัดการตรวจสอบผลผลิต การขยายฐานทางการตลาดผลไม้ไทยในต่างประเทศ  ที่เกษตรกรไทยและผู้บริโภคปลายทางจะได้รับประโยชน์สูงสุด เข้ามาหารือขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกัน” นายระพีภัทร์  กล่าว