ชูชุมชนฮักน้ำจางสู่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีกรมวิชาการ เกษตร เสริมองค์ความรู้สู่เกษตรกร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้สารชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพผลิตพืชอินทรีย์ผ่านเกษตรกรแปลงต้นแบบ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรจังหวัดลำปาง มุ่งยกระดับคุณภาพการผลิตพืชของชุมชนสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย พร้อมเป็นต้นแบบชุมชนเกษตรอินทรีย์
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประกวดชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนในพื้นที่ 8 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจังหวัดลำปางได้คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮักน้ำจางเข้าร่วมการประกวด และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ปี 2563 ประเภทดีเด่น และในปี 2564 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง ได้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรจังหวัดลำปาง ภายใต้กิจกรรมหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของจังหวัดลำปาง
โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้สารชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพในการผลิตพืชอินทรีย์ผ่านเกษตรกรแปลงต้นแบบ ในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรฮักน้ำจาง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการผลิตพืชอินทรีย์ โดยการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์ พร้อมยกระดับคุณภาพการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย (Organic Thailand) และเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้กลุ่มเกษตรกรชุมชนฮักน้ำจางมากกว่า 50 ครัวเรือน เช่น การผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพแหนแดง ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย และการใช้ชีวภัณฑ์ไวรัสNPV ของกรมวิชาการเกษตร ส่งผลทำให้เกษตรกรเปลี่ยนวิถีการผลิตพืชสู่การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกผักท้องถิ่นกินตามฤดูกาล อาทิ ผักเชียงดา ผักกวางตุ้ง หอม และกระเทียม มีการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เพื่อรักษาพันธุกรรมท้องถิ่นเอาไว้ โดยเฉพาะผักเชียงดาที่เป็นสมุนไพรเมืองเหนือ ได้มีการแปรรูปเป็นชาสมุนไพรเอกลักษณ์ของชุมชน ถือเป็นกลไกในการพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งศึกษาวิถีชีวิตของเกษตรกรในการทำเกษตรอินทรีย์และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ปัจจุบันชุมชนบ้านฮักน้ำจาง ได้พัฒนาต่อยอดการผลิตพืชอินทรีย์จนเป็นที่ยอมรับในด้านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย (Organic Thailand) ปี 2564 มีเกษตรกรแปลงต้นแบบ 3 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ 9000 เล่ม 1-2552 และมีแนวโน้มขยายผลการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในกลุ่มเกษตรกรฮักน้ำจาง ด้านการตลาด ผลผลิตจะนำไปจำหน่ายที่โรงพยาบาลแม่ทะ ศาลากลางจังหวัดลำปาง และ ห้างสรรพสินค้า Big C ทุกวัน จำหน่ายที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วันจันทร์และวันศุกร์ จำหน่ายที่ห้างเสรีสรรพสินค้าวันอังคารและวันพุธ จำหน่ายที่ตลาดเกษตรทุกวันเสาร์และอาทิตย์และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง สั่งพืชผักอินทรีย์ไปประกอบอาหารให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 300 บาทต่อวัน อีกทั้งได้นำผักเชียงดามาทำการแปรรูปเป็นชาเชียงและแคปซูลเชียงดาที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
ส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสัมผัสวิถีชุมชนเกษตรอินทรีย์ อาทิ โรงผลิตชาและแปลงผักปลอดสารพิษมีการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชาเชียงดา แหล่งศึกษาดูงานระบบการผลิตพืชอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักเติมอากาศ และการเลี้ยงขยายแหนแดงให้กับเกษตรกรในพื้นที่และผู้สนใจทั่วไป พร้อมทั้งส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม และเพิ่มทางเลือกด้านการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน