ท่ามกลางราคาปุ๋ยเคมีพุ่งสูงขึ้นราวติดจรวด เมื่อก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับนโยบายการระงับและลดการส่งออกปุ๋ยของรัสเชียและจีน ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตปุ๋ยแพงทั่วโลก โดยราคาปุ๋ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องจนปัจจุบันที่ราคาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นมูลค่าปีละกว่า 70,000 ล้านบาท
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ การที่ปุ๋ยเคมีราคาแพงได้เปิดโอกาสให้กับปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีชีวิต ช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช กลายเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ประกอบกับกระแสของโลกที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ “เกษตรอินทรีย์” ที่ทำการเกษตรด้วยวิถีธรรมชาติ ปฏิเสธปุ๋ยเคมีและสารเคมีอื่นๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยชีวภาพเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มูลค่าในตลาดโลกของปุ๋ยชีวภาพจะเติบโตและมีมูลค่าสูงถึง 4.5 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2026 ประกอบกับประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์และส่งออกสินค้าอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเร่งร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 และมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ภายในปี พ.ศ. 2570 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางการตอบรับกระแสเกษตรอินทรีย์ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ประเทศไทยในฐานะที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง จึงมีโอกาสในการนำทรัพยากรทางชีวภาพนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพเพื่อตอบสนองการขยายตัวของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้
“สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพคือ ไซยาโนแบคทีเรีย หรือเดิมเรียกว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เนื่องจากแบคทีเรียนี้มีความสามารถในการตรึงก๊าซไนโตรเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในอากาศกว่าร้อยละ 70 และเปลี่ยนไนโตรเจนให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไซยาโนแบคทีเรียยังช่วยส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเจริญเติบโต สังเคราะห์แสง และเพิ่มออกซิเจนให้กับดิน เป็นการส่งเสริมกระบวนการเมแทบอลิซึมของจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ในดินได้ อีกทั้งยังสามารถผลิตฮอร์โมนที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ด้วย” ดร.สุเปญญาเผย
นอกจากนี้ ไซยาโนแบคทีเรียสามารถสร้างสารเมือกทำให้ดินจับตัวเป็นก้อนและเก็บกักความชื้นได้ดี และเมื่อตายลงไซยาโนแบคทีเรียจะสลาย ทำให้เกิดการหมุนเวียนสารอาหารในพื้นที่เกษตร ดังนั้นไซยาโนแบคทีเรียไม่เพียงแต่มีหน้าที่เป็นปุ๋ยชีวภาพ ยังทำหน้าที่เป็นสารปรับปรุงดินอีกด้วย
ดร.สุเปญญา กล่าวอีกว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้คัดแยกไซยาโนแบคทีเรียที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากพื้นที่เกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทั้งสิ้น 45 สายพันธุ์ จากทั้งหมดนี้มี 2 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยพบว่าการเติมไซยาโนแบคทีเรียทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นปุ๋ยชีวภาพช่วยส่งเสริมการเจริญของต้นกล้า ต้นข้าว และการใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงครึ่งส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตของข้าวได้ ในขณะที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตลง
ทั้งนี้คณะนักวิจัยยังได้ใช้เทคนิคคลื่นความถี่สูงเพื่อชักนำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของไซยาโนแบคทีเรียกับรากต้นกล้า และพบว่าต้นกล้าข้าวที่มีการชักนำให้มีไซยาโนแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อยู่ด้วยมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงกว่าต้นกล้าที่ไม่มีแบคทีเรียนี้อยู่ร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งกรรมวิธีการชักนำให้อยู่ร่วมกันนี้ได้ผ่านการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการเลี้ยงแบคทีเรียนี้ในระบบเพาะเลี้ยงแบบง่ายเพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพนั้นก็สามารถทำได้ในครัวเรือน ซึ่งผ่านการพัฒนาและจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วด้วยเช่นกัน เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่น่าสนใจกว่านั้น กระบวนการผลิตไซยาโนแบคทีเรียเป็นปุ๋ยชีวภาพยังสามารถเก็บเป็นคาร์บอนเครดิตไปลดค่าใช้จ่ายในตลาดคาร์บอน (Carbon market) ได้อีกด้วย โดยการเพาะเลี้ยงไซยาโนแบคทีเรียต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งถือเป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ และตัวแบคทีเรียยังสามารถเพาะเลี้ยงในน้ำทิ้งได้ ช่วยลดปริมาณสารอาหารในน้ำทิ้ง จึงเป็นการช่วยบำบัดน้ำทิ้งได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นหากมีการขยายผลการใช้ปุ๋ยชีวภาพมากเท่าไรจะยิ่งช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเท่านั้น
นอกจากจะไม่ต้องง้อปุ๋ยเคมี เกษตรกรไทยวันนี้มีปุ๋ยชีวภาพเป็นทางเลือกและยังจะมีส่วนช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย