กรมวิชาการเกษตร เปิดปฐมฤกษ์!! สร้างคนบินโดรนเพื่อการเกษตร รุ่นแรกของประเทศไทย 85 คน ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร และผู้ที่สนใจ หวังลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ด้วยนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ เผย “โดรน” เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม และยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน แต่ใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการมากขึ้น
วันที่ 10 มีนาคม 2566 – นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ” พร้อมมอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยานในวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และภาคเอกชน คิกออฟหลักสูตรแรกในประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน (โดรน) ในช่วง 6-7 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมเพชรรัตน์ การ์เดนส์ จังหวัดร้อยเอ็ด
โดยมีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 85 คน เป็นผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้พ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร และผู้ที่สนใจ โดยผู้ผ่านการอบรมได้รับเกียรติให้เข้ารับมอบประกาศเกียรติบัตรจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อใช้เป็นหลักฐานการขอใบอนุญาตมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายทางการเกษตร และสามารถรับจ้างพ่นวัตถุอันตรายด้วยอากาศยานไร้คนขับได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง เปิดปฐมฤกษ์ สร้างคนบินโดรนเพื่อการเกษตร รุ่นแรกของประเทศ
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโดรนเกษตรที่บินรับจ้างพ่นสารกำจัดศัตรูพืชอยู่ประมาณ 10,000 ลำ กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายให้ผู้รับจ้างบินโดรนดังกล่าว ได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมีแนวทางที่จะมอบหมายให้หน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมให้กับผู้รับจ้างต่อไป โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำกับดูแล สำหรับ“โดรน” ถือเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยม และยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน โดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลง แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรมีความสนใจใช้โดรนทางการเกษตรในการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ่นชีวภัณฑ์ หว่านเมล็ดพันธุ์ หว่านปุ๋ยเม็ด โดรนเพื่อการเกษตรจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะการนำไปใช้กับการพ่นวัตถุอันตราย
กรมวิชาการเกษตร ที่มีบทบาทหนึ่งในการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย การอบรมครั้งนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาผู้อบรม ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจรรยาบรรณที่ดีเพื่อก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยมี “กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้รับจ้างพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยอากาศยาน ” พร้อมคาดหวังดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ต้องมีผู้ผ่านการอบรม 2,000 ราย และจะดำเนินการให้ครบ 10,000 ราย ในปีงบประมาณ 2568”โดยเริ่มแผนปูพรมต่อในจังหวัดที่มีพื้นที่ทำการเกษตร/เมืองเกษตรกรในภาคต่างๆ นายระพีภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย
การเปิดปฐมบทสร้างคนบินโดรนเพื่อการเกษตรรุ่นแรกของประเทศไทยครั้งนี้ ยังนำมาสู่นิทรรศการโดรนเกษตร (Drone Pavilion) ที่จัดขึ้นในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายในงานจัดนิทรรศการให้ความรู้มากมาย อาทิ เทคนิคการพ่นสารกำจัดศัตรูพืช (โรค แมลง วัชพืช) ด้วยโดรน การผสมสารกำจัดศัตรูพืชสำหรับโดรน การศึกษาข้อปฏิบัติสำหรับการใช้โดรน การสาธิตการบินโดรน และคลินิกโดรนการเกษตรอีกด้วย