กรมวิชาการเกษตร โชว์นวัตกรรมหอมแดงอบแห้ง ด้วยการหั่นแล้วแช่ในสารละลายแคลเซี่ยมคลอไรด์และกรดซิตริก อบด้วยลมร้อน สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเป็นปี เผยเมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร นำมาแช่น้ำสะอาด หอมแดงจะคืนตัวโดยมีลักษณะทางกายภาพและกลิ่นเหมือนหอมแดงสดทุกประการ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งผลิตหอมแดงคุณภาพดี มีชื่อเสียงจนเรียกกันติดปากว่าหอมแดงศรีสะเกษ ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษคือเปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรงเก็บรักษาได้ยาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศที่นิยมอาหารไทย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น โดยหอมแดงคุณภาพที่ส่งออกต้องมีลักษณะเป็นหัวเดียวหรือหัวที่ยังไม่แยกออก ขนาดหัวจัมโบ้ (มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4.0 เซนติเมตร (เฉลี่ย 3.47 ซม.) ผิวแห้งสนิท ปราศจากโรคแมลง ขนาดหัวสม่ำเสมอ และปลอดภัยจากสารพิษ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญที่อำเภอยางชุมน้อย ขุขันธ์ ราษีไศล วังหิน และกันทรารมย์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายหัวหอมสดเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้เพียง 2-3 เดือน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตรจึงได้ศึกษาวิจัยแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้ โดยการนำหอมสดมาหั่นแล้วแช่ในสารละลายแคลเซี่ยมคลอไรด์และกรดซิตริก เพื่อคงลักษณะทางกายภาพของหอมแดงสดไว้ จากนั้นอบด้วยลมร้อน ซึ่งหอมแดงอบแห้งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 8-12 เดือน เมื่อต้องการใช้ประกอบอาหาร นำมาแช่น้ำสะอาดเพื่อให้หอมแดงจะคืนตัวโดยมีลักษณะทางกายภาพและกลิ่นเหมือนหอมแดงสด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ยังได้ทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้ของหอมแดง โดยหลังจากการเก็บเกี่ยวหอมแดงเกษตรกรจะนำต้นหอมแดงมามัดให้เป็นกลุ่มๆ นำมาแขวนตากและจะแต่งทำความสะอาดมัดเป็นจุกก่อนการจำหน่าย ซึ่งจะมีส่วนที่ไม่ใช้ประโยชน์คือ เปลือก ราก ใบ ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้มีปริมาณรวม 4,000 ตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิต
คณะนักวิจัยจึงได้วิจัยพัฒนาสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยนำเปลือก ราก และใบหอมแดง มาสกัดสารสำคัญและกลั่นน้ำมันหอมระเหย พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารเคอร์ซิติน สารในกลุ่มไกล์โครไซด์ ซัลเฟอร์ และกลุ่มฟาโวนอย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโปรตีนทำให้คอลลาเจนอยู่ในสภาวะปกติไม่สลายตัว (ลดริ้วรอยตามวัย) สร้างเซลล์ใหม่ได้รวดเร็ว (สมานแผล และลบรอแผลเป็น) และลดอาการหวัดคัดจมูก
จากคุณสมบัติดังกล่าว ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงร่วมกับ จังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วิจัยและพัฒนาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยมาทำเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่ ครีมบำรุงผิวหน้า เจลแต้มสิว โฟมล้างหน้า และเวชภัณฑ์ ได้แก่ สติกเกอร์แผ่นแปะ และน้ำมันหอมแดงช่วยบรรเทาอาการหวัด
ผลจากการวิจัยพัฒนาการแปรรูปหอมสดเป็นหอมแดงพร้อมใช้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าของหอมแดงแล้วยังทำให้สามารถกระจายผลผลิตและลดปริมาณหอมแดงไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ ทำให้ราคามีเสถียรภาพ อำนาจการต่อรองของกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรจะมีมากขึ้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการบริโภคหอมแดงในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาหอมแดงสูงขึ้น
ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และการแปรรูปหอมแดงยังสามารถสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้นำผลงานวิจัยการแปรรูปเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากหอมแดง ประชาสัมพันธ์ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ และหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านกิจกรรม “สื่อรักแทนใจ รักใครให้หอม” ปี 2566 ของจังหวัดศรีสะเกษ ณ ทำเนียบรัฐบาล ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร โทร 045-814581