13 บริษัทญี่ปุ่นสนใจพัฒนาเกษตรกรอัจฉริยะกับไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดกระทรวง.เกษตรฯ เผย 13 บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น ให้ความสนใจในการพัฒนาโครงการเกษตรกรอัจฉริยะ  ขณะที่ไทยเตรียมความพร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับญี่ปุ่นในทุกมิติเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรยุคให้มีความนั่งยืน

วันที่ 20 กันยายน 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายด้านการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น โดยมีว่า บริษัทญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 13 บริษัท ให้ความสนใจในการพัฒนาโครงการเกษตรกรอัจฉริยะกับฝ่ายไทย

ทั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่การขับเคลื่อนรถแทรกเตอร์ในรูปแบบอัตโนมัติ (auto steering) การแบ่ง จัดสรรและระบุที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรในรูปแบบอัตโนมัติด้วยระบบดาวเทียม (GRID Polygon) โดรน (Sensing Drone) ไปจนถึงโรงเรือนกระจกอัจฉริยะ (IT Greenhouse) นอกจากนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินโครงการร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ บริษัท Ajinomoto (Thailand) จำกัด และบริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด

เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูมันสำปะหลัง และกรมการข้าว ร่วมกับบริษัท Topcon Corporation จำกัด จะดำเนินความร่วมมือด้านการทดลอง/สาธิตการปรับใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในแปลงเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ของสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และผลผลิต ระหว่างแปลงที่ใช้รถแทรกเตอร์ในรูปแบบอัตโนมัติกับที่ไม่ใช้ในระบบดังกล่าว

ดังนั้นตนได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเร่งจัดทำแผนงานและรายละเอียดการของบประมาณประจำปี 2567 ที่ครอบคลุมการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะเพื่อเสริมสร้างพลิกโฉมระบบการเกษตรและอาหารให้รุดหน้า มีความยั่งยืน ตอบสนองตามแนวทาง BCG โมเดล นโยบาย Thailand 4.0 และแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการจัดทำโครงการต่าง ๆ จะต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่ได้ตกลงกันไว้

ทั้งทางด้านเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ระบบการจัดการเกษตรอัจฉริยะ การจัดการข้อมูลการเกษตร (agricultural data platforms) การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเกษตรอัจฉริยะ และห่วงโซ่อาหารอัจฉริยะ และด้านบุคลากร อาทิ การร่วมวิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคนิค การประชุมปฏิบัติการ และการสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งพิจารณาจัดทำโครงการที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในเสริมสร้างเครือข่ายเป็นต้น