ชาวไร่มันเฮ! ใช้เทคโนโลยีเครื่องไถระเบิดดินดานพ่วงแทรคเตอร์ของกรมวิชาการเกษตร พร้อมใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-3 ตามค่าวิเคราะห์ดินในไร่มันสำปะหลัง พบเพิ่มผลผลิตหัวมันได้ถึง 5,376 กก./ไร่ จากวิธีเดิมของเกษตรกรได้ผลผลิตไร่ละ 3,947 กก. ทำให้มีรายได้สุทธิไร่ละ 9,471 บาท
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้นำเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพถุงเขียวตระกูลพีจีพีอาร์-3 สุดยอดปุ๋ยชีวภาพแห่งปี ร่วมกับนวัตกรรมไถระเบิดดินดาน และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ที่เป็นงานวิจัยเด่นของกรมวิชาการเกษตร มาเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น (พอดี) กับความต้องการ ของพืช และความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยส่งเสริมให้มี การเก็บตัวอย่างดิน นำมาตรวจวิเคราะห์ก่อนการปลูกพืช หรือก่อนการใส่ปุ๋ย เพื่อทราบความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในขณะนั้น และสามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกสูตรและถูกอัตรา
ปุ๋ยพีจีพีอาร์ -3 แบคทีเรียในปุ๋ยมากความสามารถ ทั้งตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารสำคัญที่ถูกตรึงอยู่ในดิน สร้างสารแย่งจับธาตุเหล็กส่งต่อพืช พร้อมสารต้านเชื้อราสาเหตุโรคพืช เพิ่มราก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
เทคโนโลยีไถระเบิดดินดานสำหรับรถแทรกเตอร์ 48-50 แรงม้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ดินแตกตัวโดยไม่มีการพลิกดิน ระเบิดชั้นดินดานที่มีความลึกได้ถึง 40 เซนติเมตร สร้างโพรงขนาดใหญ่ใต้ดินให้หัวมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 561,216 ไร่ ผลผลิตรวม 1,901,962 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,408 กก./ไร่ กรมวิชาการเกษตรหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนการจัดการศัตรูพืช โดยจัดทำแปลงต้นแบบ อบรมเสวนาให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จนเข้าใจในเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร สร้างเครือข่ายการผลิตมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปี 2564 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ได้ส่งเสริมเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่มันสำปะหลัง อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี อบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร จัดทำแปลงต้นแบบ ใช้ไถระเบิดดินดาน ระเบิดชั้นดานที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของหัวมัน ลดโอกาสการเกิดโรคหัวเน่าโคนเน่า ใบจุด ใบไหม้ ทำให้มันสำปะหลังสามารถข้ามแล้งได้ดีขึ้น เพิ่มผลผลิตหัวมันสำปะหลัง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-3 พบว่า ผลผลิตของมันสำปะหลังสูงกว่าการผลิตเดิม
แปลงของ นายลำพันธ์ คำวงษ์ นวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรได้ผลผลิต 5,376 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้สุทธิ 9,471 บาท ในขณะที่วิธีเกษตรกรได้ผลผลิต 3,947 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้สุทธิ 7,474 บาท แปลงต้นแบบของ นางสาวชะเอม โจโฉ นวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรได้ผลผลิต 5,488 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้สุทธิ 9,740 บาท ซึ่งวิธีเกษตรกร ได้ผลผลิต 3,733 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้สุทธิ 6,960 บาท
“จากการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจในผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีการยอมรับนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร มีความต้องการใช้ไถระเบิดดินดานก่อนการเตรียมแปลงปลูกมันสำปะหลังในฤดูกาลต่อมา และสนใจในการให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-3 เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสนใจของเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่มันสำปะหลังห้วยกระเจา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรีจึงได้มีการดำเนินกิจกรรม “การเพิ่มศักยภาพรายสินค้าเกษตรในระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่” ต่อเนื่องในปี 2565 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ของกรมวิชาการเกษตร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว