ปลัดเกษตรฯ นำทีมศึกษานวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น หวังต่อยอดสร้างความแกร่งภาคเกษตรไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำทีมเยือนจังหวัดอิบารากิ ศึกษานวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น พร้อมนำมาพัฒนา ต่อยอดเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรไทย

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF)

เพื่อหารือความร่วมมือกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Agricultural and Food Research Organization: NARO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของญี่ปุ่นในการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรนานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Research Center for Agricultural Sciences : JIRCAS) ซึ่งดำเนินงานด้านการทดลอง และวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ป่าไม้ ประมง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขตร้อน

โดยมีผู้บริหารของทั้งสองสถาบันให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปเกี่ยวกับหน่วยงาน งานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ นำเสนอเครื่องจักรกลทางการเกษตรอัจฉริยะ และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกุ้ง

สำหรับ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคเอเชียที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาปรับใช้ในภาคการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบและสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรสูงวัย ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนแรงงาน มาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตรที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด และผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เป็นอาชีพที่น่าดึงดูดคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยอาหารด้วยต้นทุนที่ลดลง ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและระบบอาหารยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการผลิตตามความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ การส่งเสริมความร่วมมือผ่านระดับทวิภาคี/พหุภาคีด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะในมิติต่าง ๆ อาทิ การดำเนินโครงการวิจัยร่วม การทดลองการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้/ผู้เชี่ยวชาญ และการประชุม/สัมมนาเชิงปฏิบัติการ จึงมีความสำคัญต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมากในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรไทย รวมทั้งเสริมสร้างความสมดุลระหว่างผลิตผลทางการเกษตรและการปกป้องสิ่งแวดล้อม