“อลงกรณ์” เอาบ้างเล็งจับมือญี่ปุ่นแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง-อาหาร ตั้งเป้าเดินเครื่องในไทยทันทีปีนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

อลงกรณ์ พลบุตร

ญี่ปุ่นสำเร็จแล้ว แปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันเครื่องบิน เป้าหมายต่อไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทโปรตีนจากพืช และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ  “อลงกรณ์” สบช่องผนึกความร่วมมือญี่ปุ่นแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารตั้งเป้าเดินเครื่องในไทยทันทีปีนี้

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียวแจ้งว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว และคณะที่อยู่ในระหว่างไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตสาหร่ายเป็นน้ำมันเครื่องบินที่บริษัท ชิโตเซะ (CHITOSE) เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ โดยมีนางริเอะ คุจิมิยะ (Rie Kugimiya) ประธานฝ่ายปฏิบัติการและคณะให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอผลงานการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายของบริษัท ชิโตเซะ

จากนั้นได้นำชมห้องแล็ปปฏิบัติการผลิตสาหร่ายในระบบปิดเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนพลังงานจากฟอสซิลตามแนวทางพลังงานสีเขียวเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการแปรรูปสาหร่ายเป็นอาหารประเภทโปรตีนจากพืช (plant based protein) และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ อื่นๆโดยขณะนี้ได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือกับหลายประเทศและพร้อมร่วมมือกับทางการไทยและเอกชนของไทยโดยมีคอนเซ็ปท์“Cultivate The Earth”

นายอลงกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของบริษัทชิโตเซะในการวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าจนเกิดนวัตกรรมชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นแปรรูปสาหร่ายเป็นน้ำมันเครื่องบิน(Jet Fuel)และชีวภัณฑ์ต่างๆซึ่งวิสัยทัศน์และแนวทางของบริษัทชิโตเซะสอดคล้องกับนโยบายBCG Mode(Bio-Circular-Green Economy)ของรัฐบาลไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ภายใต้นโยบายเกษตรอาหารเกษตรพลังงานและนโยบายอาหารแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตามประเทศไทยเองโดยกรมประมงเริ่มเดินหน้าแล้วในปีนี้โดยส่งเสริมสาหร่าย ทะเล(Seaweed)และสาหร่ายน้ำจืด(Freshwater Algae)เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เพราะเลี้ยงง่าย โตไวให้ผลผลิตเร็ว มีน้ำมันและโปรตีนสูง รวมทั้งมีกรดอะมิโนและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีคุณค่าทางสารอาหาร เหมาะกับการนำมาเป็นอาหารทางเลือกใหม่ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันชีวภาพ เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์สู่เกษตรมูลค่าสูง ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ใหม่ให้เกษตรกร

นอกจากนี้สาหร่ายยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก โดยมอบสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว เป็นผู้ประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทชิโตเซะต่อไป

สำหรับโครงการผลิตสาหร่ายเพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าสู่เกษตรมูลค่าสูงเริ่มดำเนินการทันทีปีนี้ โดยต่อยอดนวัตกรรมงานวิจัยของสวทช. กรมประมง ศูนย์เอไอซี(AIC)และเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากรมประมงร่วมกับมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมทและมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดการสัมนาเรื่อง “อนาคตสาหร่ายทะเลในประเทศไทย Seaweed: The Next Future”มีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานวิจัยและภาครัฐภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก.