สศก. Kick off เปิดตัว “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัดฯด้วย Big data

  •  
  •  
  •  
  •  

สศก.จับมือพันธมิตร Kick off เปิดตัว “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัด ยกระดับระบบคาดการณ์ผลผลิต ด้วย Big data เผยเป็นความสำเร็จ ที่กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภาคี ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรอย่างยั่งยืน

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(NABC)  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้เปิดตัวระบบและการอบรมเรื่อง “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัดและระบบคาดการณ์ผลผลิต” พร้อมทั้งสร้างความรับรู้และความเข้าใจ รวมทั้งหารือถึงแนวทางต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อนำข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุงการใช้งานระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรต่อไปโดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธานเปิดงานณ ห้องประชุมพึ่งบุญ ชั้น 8 อาคารวิสัยทัศน์ สศก.

                                                            ดร.ทองเปลว กองจันทร์ 

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า ภาคเกษตรไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 12 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ของผู้มีงานทำ นับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากร รวมทั้งมีเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรครอบคลุมถึงร้อยละ 46 ของพื้นที่ประเทศไทยและด้วยเหตุที่เกษตรกรไทยยังมีอยู่จำนวนมากและมีความเปราะบางสูง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรแบบลงลึกถึงระดับจังหวัดจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของระบบงาน Big Data ภาคเกษตร

ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัดนับเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สศก. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรไทยที่สำคัญ ในการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อคาดการณ์และติดตามผลผลิต แบบ near real timeซึ่งสามารถติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกสินค้าเกษตรทั้งภาพรวมระดับประเทศและระดับจังหวัด สามารถระบุพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร อาทิ ภัยธรรมชาติและยังสามารถคาดการณ์แนวโน้มการผลิตรายพื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทาง สศก. และ ธปท. ยังได้ร่วมกันยกระดับเทคนิคการพยากรณ์ โดยพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์ผลผลิตข้าวนาปรังในระดับจังหวัด โดยใช้ Machine Learning ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลผลผลิตจาก สศก. ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เพาะปลูกและความสมบูรณ์ของพืชจาก GISTDA และการพยากรณ์อากาศระยะกลางของ สสน. เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการพยากรณ์ผลผลิต และนำผลที่ได้จากแบบจำลองมาใช้ในฐานข้อมูลภาคเกษตรระดับจังหวัด ก่อนที่จะประมวลผลขึ้น เป็นข้อมูลภาคเกษตรระดับประเทศ

“ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจระดับจังหวัดและระบบคาดการณ์ผลผลิต นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคี ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามบริบทต่างๆ ของโลก พัฒนาการบริหารจัดการเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ระดับภูมิภาค ส่งผลให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนนโยบายและบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนำพาภาคกษตรไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดทำระบบข้อมูลภาคเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีศักยภาพเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบข้อมูลภาคเกษตรในระดับพื้นที่เชื่อมโยงและพัฒนาจนเกิด “ระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัดและระบบคาดการณ์ผลผลิต”

ทั้งนี้ได้นำจุดแข็งและความชำนาญของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ การคาดการณ์และติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศของ สสน. การประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามภาวะการผลิตสินค้าเกษตรของ GISTDA การจัดทำสถิติและติดตามภาวการณ์ผลิตภาคเกษตรในระดับพื้นที่ของ สศก. และการประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจของ ธปท. มาใช้ในการพัฒนาระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัดและระบบคาดการณ์ผลผลิตให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่ในระดับจังหวัด

สำหรับกระบวนการทำงานของระบบติดตามฯ สศก. โดย ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ และ สศท. 1-12 จะนำเข้าข้อมูล ตรวจสอบ ประมวลผล และเผยแพร่ข้อมูล โดยทาง ธปท. จะสนับสนุนการพัฒนาระบบ และแนะนำการปรับปรุงดัชนีโดยมีการประมวลผลและจัดเก็บในฐานข้อมูล (Database) พร้อมกับคำนวณดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรด้วยวิธีการจัดทำดัชนีแบบลูกโซ่ (Chain Index) และแสดงผลในรูปแบบของ Data Visualization โดยการแสดงผล Dashboard ในระบบติดตามฯ ให้สามารถแสดงผลได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ซึ่งข้อมูลจากดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนเศรษฐกิจการเกษตรระดับจังหวัด รวมถึงการเตือนภัยเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของการพัฒนาระบบติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตรและระบบคาดการณ์ผลผลิต นอกจากจะทำให้มีข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตที่แม่นยำวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนปรับสมดุลอุปสงค์และอุปทานในระดับพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การเติมการกระจายสินค้าออกจากพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงาน‘เนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร’ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนา เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อต่อยอดการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิต และรับทราบการเตือนภัยเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างทันท่วงที