กยท.คัดเลือกเรียบร้อยแล้วเหลือ 43 ทีม 4 ประเภท สำหรับผู้ร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปี 2565 เผยวันที่ 9 สิงหาคม 2565 รู้ผลใครคือ Start up รุ่นใหม่ ที่ต้องระดมทุนในการต่อยอดธุรกิจทั้ง 4 ประเภท ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนเปิดตัวโครงการใหม่ ” Smart Natural Rubber Hackathon” หนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สู่วงการยางพาราไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปีงบประมาณ 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU) ว่า ล่าสุด กยท. ได้ดำเนินการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการและคัดเลือกจนได้ 43 ทีม
ทั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ Design Contest (I2D) จำนวน 16 ทีม Idea to Prototype (I2P) พัฒนาแนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา จำนวน 19 ทีม Product to Market (P2M) พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราเข้าสู่ตลาด จำนวน 5 ทีม และ Product to Global Market (P2GM) พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จำนวน 3 ทีม
หลังจากนี้จะนำผลงานทั้งหมดที่เกิดจากการบ่มเพาะความรู้ความสามารถและพัฒนาดังกล่าว ไปจัดแสดงนิทรรศการ และจัดกิจกรรม Pitching เพื่อตัดสินสุดยอดผลงานและระดมทุนในการต่อยอดธุรกิจทั้ง 4 ประเภท ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นการทำงานร่วมกับ กยท. กับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้ นิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม เป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ต่อยอดงานวิจัย และนวัตกรรมยางพารา ไปสู่เชิงพาณิชย์ และก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกเหนือจากโครงการ Start up ด้านยางพารา ที่ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางพาราได้เข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสู่การทำธุรกิจแล้วนั้น กยท. เตรียมเปิดตัวโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา สำหรับนิสิต นักศึกษา ในระดับอุดมศึกษา ที่สนใจด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีในเรื่อง การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เข้าร่วมคิดค้นและพัฒนา Solution ในการแข่งขัน Smart Natural Rubber Hackathon กับโจทย์ 1.เครื่องมือฉีดพ่นสารเคมี สำหรับต้นยางพาราที่มีความสูง 20 เมตรขึ้นไป
2.เครื่องจักร/อุปกรณ์ สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อลดการใช้แรงงาน,3.เครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตวัตถุดิบยาง/ผลิตภัณฑ์ยางซึ่งจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแบบทีม ทีมละ 5 คน และคัดเลือกผลงาน 5 ทีมสุดท้าย มีเงินรางวัลให้ทีมละ 100,000 บาท โปรดติดตามรายละเอียดได้ตามช่องทางต่างๆ ของ กยท. เร็วๆ นี้