เปิดตัวแล้ว “KU- VBIC”ศูนย์วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ฉลองครบรอบ 80 ปี มก.

  •  
  •  
  •  
  •  

มก.เปิดตัวแล้ว “ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เผยนับเป็นศูนย์วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ประกาศพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการใช้วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (KU- VBIC) ซึ่งนับเป็นศูนย์วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมแห่งแรกของประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันความมั่นทางด้านอาหาร หรือ food-security กลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลาย ๆ ประเทศตระหนักและเตรียมรับมือหากเกิดปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรม ทั้งด้านพืช สัตว์ และสุขภาพของผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU- VBIC) ขึ้นมา

                                                                     ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาการใช้องค์ความรู้ การให้คำแนะนำ และบริการด้านการวิจัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์นวัตกรรมการวิจัย ผลผลิตงานวิจัย และผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้า หรือผลิตภัณฑ์กลุ่มวัคซีน และชีวภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังในการเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตสินค้าการเกษตร เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen of the World)  และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของคนไทย และส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังต้องการความร่วมมือจากภาครัฐในการผลักดันให้การใช้วัคซีนและชีววัตถุในภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านสัตว์ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งยังนับสนุนนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย โดยขยายผลมาถึงเกษตรกรรมองค์รวมเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย (food safety and food security) และส่งเสริมการใช้วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมไทย อย่างยั่งยืน

                                                            รศ.ดร.ศศิมนัส อุณจักร์ 

ด้าน รศ.ดร.ศศิมนัส อุณจักร์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์: ด้านสัตว์ ประกอบด้วยเครือข่ายกลุ่มวิจัยจากคณะเกษตร คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะประมง คณะวิทยาศาสตร์ และ   คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีองค์ความรู้เชิงลึกในด้านสุขภาพสัตว์ และการจัดการโรคสัตว์ติดเชื้อทั้งอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ อีกทั้งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาต้นแบบวัคซีนและชีวภัณฑ์ทั้งในส่วนห้องปฏิบัติการและภาคสนามที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นต้นแบบใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ได้

ปัจจุบัน วัคซีนและชีวภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมโรคในสัตว์มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง ทำให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เลี้ยงจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัคซีนชนิดออโตจีนัส (autogenous vaccine) ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เพื่อให้มีการผลิตและนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาวัคซีนหน่วยย่อย (subunit vaccines) ที่ประกอบด้วยวัคซีนชนิดรีคอมบีแนนต์ (recombinant protein vaccines) และดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) ทำให้มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพใกล้เคียงวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าและปลอดภัยกว่า

รศ.ดร.ศศิมนัส กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เรา มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดออโตจีนัส และมีทรัพยากรกายภาพที่พร้อมต่อการผลิตวัคซีนให้พร้อมใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมโรคติดเชื้อและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาวัคซีนขั้นสูง ที่สามารถออกแบบและผลิตวัคซีนหน่วยย่อยเพื่อควบคุมโรคติดเชื้อแบบยั่งยืน และมีความพร้อมทั้งในโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตวัคซีนเพื่อการศึกษาระดับภาคสนาม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยและผลิตภัณฑ์กลุ่มชีววัตถุ และสารชีวภัณฑ์ที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการเกษตร และด้านอื่น ๆ เช่น การผลิตเปปไทด์ต้านจุลชีพ (antimicrobial peptide) เพื่อใช้ในการควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการผลิตโปรตีนรีคอมบีแนนต์ชนิดต่าง ๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคทางการสัตวแพทย์ และทางการแพทย์ เป็นต้น

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีวัคซีนสัตว์หลากหลายชนิดที่มีการวิจัยและพัฒนา และที่ผ่านการทดสอบระดับภาคสนาม เพื่อใช้ควบคุมโรคสัตว์หลายชนิด ซึ่งพร้อมต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ และต้องการการสนับสนุนการพัฒนาจากต้นแบบไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการผลักดันวัคซีนสัตว์ให้ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมายต่อไป” รศ.ดร.ศศิมนัส กล่าว