คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนางานวิจัยการเพิ่มความแข็งแรงของถนนด้วยสร้างจากขยะพลาสติกผสมกับยางมะตอย สามารถใช้ได้จริง ทนทาน ลดค่าใช้จ่ายในการสร้างถนน แถมแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อีกด้วย
หัวข้อการทำ Zero Waste คือการจัดการขยะด้วยตัวเอง 100 % เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้ความสำคัญแก่การคัดแยกขยะเป็นต้นทางการบริหารจัดการขยะที่สำคัญมาก โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาและบุคลากรในการคัดแยกขยะ โดยพลาสติกชนิดถุงหิ้ว ถุงร้อนที่มีการปนเปื้อนมักจะไม่สามารถ Recycle ได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ หรือการเผา แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการสร้างพลังงานก็ตาม แต่ยังสร้างมลภาวะให้แก่สิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการคิดค้นวิธีการที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่การแปลงสภาพของขยะพลาสติกเหล่านั้น โดยนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบความสามารถในการเป็นสารยึดเกาะที่ผสมกับยางมะตอยหรือที่เรียกว่า Asphalt พลาสติกได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างพันธะอย่างสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการชะล้างในสภาวะธรรมชาติ
ถนนพลาสติกที่ได้มามีความแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกันสามารถลดการใช้ยางมะตอยได้ ทำให้ต้นทุนของการทำถนน หรือการทำพื้นผิวทางโยธาถูกลง ความสำคัญอีกประการในการวิจัยครั้งนี้คือการทดสอบความทนทานของท้องถนน สร้างความมั่นใจว่าถนนสามารถใช้งานได้จริง รองรับต่อการเสียดสีในระยะยาว 7 – 8 ปี
งานวิจัยประสบความสำเร็จจนเกิดถนนต้นแบบที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมของการทำทางทั้งจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นถนนสาธารณะที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดให้ชุมชนโดยรอบได้ใช้สัญจร ตั้งอยู่ ณ บริเวณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความมุ่งมั่นในทิศทางการดำเนินงานสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร ร่วมกับการทำงานกับชุมชน เพื่อคืนคุณค่าความดีงามสู่สังคม สร้างประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้ ถนนแห่งนี้ไม่เพียงแต่ได้เป็นทางเดินรถเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าถึงการจัดการปัญหาที่สั่งสมมานานได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย