ไทยสบช่องชวนสมาชิก APEC มาลงทุนด้านวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกัน ชู”เกษตรอัจฉริยะ”

  •  
  •  
  •  
  •  

“มนัญญา” โชว์วิสัยทรรศ ในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการระดับโลก ” APEC 2022″ เผยไทยมีนโยบายชัดเจนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ลดการสูญเสีย ขณะอธิบดีกรมวิชาการเกษตร สบช่องเชิญชวนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC มาลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชนตามนโยบายเกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรครบวงจรแบบเป็นรูปธรรม

      วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC 2022 โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าภาพร่วมกับ USDA และ AFSI ชุดโครงการ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เรื่อง “พันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนมด้านการเกษตร การประยุกต์ใช้ และความท้าทาย” พร้อมติดตามความก้าวหน้า การประยุกต์ใช้ และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เน้นแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ทางการเกษตร เพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยพัฒนา และโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ

      นางสาวมนัญญา กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ APEC ภายใต้กรอบการหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรว่า การที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบจัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร

        ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรมีกำหนดจัดหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในเดือนสิงหาคมนี้ ตามที่รัฐบาลไทยมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ลดการสูญเสีย ใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์สูง

       นางสาวมนัญญา กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารของโลก มีความจำเป็นเร่งด่วนให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในภาคการเกษตร เพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างเสถียรภาพทางอาหารอย่างปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน

      ด้านนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษว่า เรื่องมุมมองเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรต่อโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนนำนโยบาย 3-S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร

       “กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง โดยมีงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพรของไทยมากมายที่สอดคล้องกับ BCG model อาทิ การปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้ได้สาระสำคัญสูง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นายระพีภัทร์ กล่าว

       ในโอกาสนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เชิญชวนให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC มาลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและภาคเอกชนตามนโยบายเกษตรอัจฉริยะ เพื่อให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรครบวงจรแบบเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และขอเชิญชวนให้มาลงทุนที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายชนิด

      นอกจากนี้ได้รวมถึงการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยมี BOI (Board of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศแบบครบวงจรตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยผลักดันด้านการค้าและการลงทุนในยุคสังคมดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคงด้านอาหาร เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อระบบอาหารที่ปลอดภัย มั่นคง ยืดหยุ่นและยั่งยืน