วีกรีน มก.เตรียมเปิดตัว CIRCULAR MARK ไทยพัฒนาครั้งแรกในโลก 

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจฯ “วีกรีน” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมสรุปผลโครงการวิจัยฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ที่ไทยพัฒนาครั้งแรกในโลก และมอบใบรับรอง CIRCULAR MARK ให้กับบริษัทนำร่อง 30 บริษัท 376 ผลิตภัณฑ์ พร้อมจัดเสวนาเรื่อง“แนวทางการพัฒนา CIRCULAR MARK สู่มาตรฐานและระบบรับรองระดับชาติ” ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นี้

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ กลุ่ม PPP Plastics เตรียมจัดงานแถลงข่าวสรุปผลโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (CIRCULAR MARK) อันเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 – 13.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ภายในงานประกอบด้วย  นิทรรศการผลิตภัณฑ์ของ 30 บริษัท ที่ได้รับการรับรองติดฉลาก CIRCULAR MARK เป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย การแถลงข่าวสรุปผลโครงการวิจัยและส่งมอบผลการดำเนินโครงการวิจัย พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนา CIRCULAR MARK เป็นมาตรฐาน และระบบรับรองระดับชาติ ระหว่าง มสท. สมอ. กพร. สอท. บพข. พิธีมอบใบรับรอง CIRCULAR MARK ให้กับบริษัทนำร่อง 30 บริษัท 376 ผลิตภัณฑ์ และการเสวนาเรื่อง“แนวทางการพัฒนา CIRCULAR MARK สู่มาตรฐานและระบบรับรองระดับชาติ”

โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นายกฤษดา เรืองโชติวิทย์ คณะทำงาน กกร. ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระยะเวลาดำเนินการ: มิถุนายน 2564-พฤษภาคม 2565 โดยมี รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ

มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อกำหนดและแนวทางารพัฒนาระบบรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน “CIRCULAR MARK” เป็นครั้งแรกในภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเครื่องมือการตลาดผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์สินค้า และ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

CIRCULAR MARK หรือ ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน พัฒนาครั้งแรกในโลก โดยประเทศไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาข้อกำหนดจากประเด็นปัญหาการหมุนเวียนวัสดุ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ โดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ มุ่งเป้าส่งเสริมการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า หมุนเวียนสู่ระบบเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ และ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ช่วยสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมไทยและประชาคมโลก

ข่าวโดย… ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์