เอ็นไอเอ ดึงเอกชน เดินสร้างภาพลักษณ์ไทย “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เปิดตัว “เดอะฟาวเดอร์ 2” ชู 25 ธุรกิจนวัตกรรมทรงพลัง 

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานนวัตกรรมฯ เดินหน้าสร้างภาพลักษณ์ไทยสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม ผ่านการนำเสนอตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จ พร้อมผลักดันสู่ต้นแบบทางนวัตกรรมให้กับภาค MSME หลังพบภาคส่วนนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้นวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ พร้อมเปิดตัว The Founder II เพื่อนำเสนอมุมมองของบุคคลที่สามารถสร้างทางรอดในภาวะวิกฤต จำนวน 25 ราย

            ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า NIA มีเป้าหมายในการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ภาพรวมทางนวัตกรรมของประเทศก้าวสู่ 30 อันดับแรกของโลก ทั้งนี้ การที่นวัตกรรมไทยจะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยความเข้มแข็งจากภาคธุรกิจเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อน เนื่องจากภาคส่วนดังกล่าวมีศักยภาพทั้งการเป็นแหล่งจ้างงาน การนำรายได้เข้าสู่ประเทศ การลงทุนต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างภาพจำที่ดีเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางนวัตกรรมของประเทศทั้งในเชิงการบริการ การผลิต รวมถึงกระบวนการที่สามารถเปลี่ยนแปลงบริบทของเมือง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

                                                                 ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ 

            สำหรับในปี พ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมานั้นถือได้ว่าภาคธุรกิจเอกชนไทยมีการปรับตัวด้านความสามารถทางนวัตกรรมในระดับที่ดี มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก (จากการจัดอันดับขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO) และค่าเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ร้อยละ 1 ของ GDP สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคดังกล่าวที่ต้องการจะเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงแต้มต่อทางธุรกิจที่นำมาใช้ในการสร้างทางรอด – การแข่งขันมากขึ้น

        อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนด้านนวัตกรรมจะอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม – ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือสตาร์ทอัพเท่านั้น ซึ่งส่วนที่สำคัญอย่างภาค MSME ยังจำเป็นต้องสร้างความตระหนักและผลักดันให้มีการใช้นวัตกรรมอีกมาก โดยจากข้อมูลพบว่าผู้ที่เข้าถึงนวัตกรรมมีเพียงไม่ถึง 1% หรือ ประมาณ 3 หมื่นราย จากกว่า 3 ล้านรายเท่านั้น

        “ปัญหาของบางธุรกิจที่ยังขาดการนำนวัตกรรมมาใช้ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งเรื่องการเงิน การขาดบุคลากร รูปแบบของนวัตกรรมหรือกระบวนการที่เหมาะสม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความรู้และความเข้าใจ” ซึ่งหลายคนมีความคิดหรือยึดติดว่านวัตกรรมต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูงหรือความไฮเทคเท่านั้น ดังนั้น NIA จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารผ่านรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อลดช่องว่างถึงความเข้าใจในการนำนวัตกรรมมาใช้ว่าไม่ใช้สิ่งที่เป็นเรื่องของความไฮเทคเพียงอย่างเดียว และยังต้องการชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมืองไทยมีนวัตกรรมเป็นอย่างไร บริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการนำนวัตกรรมมาใช้ มีขั้นตอนหรือกระบวนการที่สำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้ในเชิงการผลิต หรือการบริการในรูปแบบไหน โดยท้ายที่สุดเมื่อทำให้ภาพจำของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป ก็จะเกิดเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้บริษัทและแบรนด์นวัตกรรมของไทยนั้นมีความชัดเจน – ถูกผลิตออกมามากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

      ผู้อำนวนการ NIA กล่าวอีกว่า ได้มีการเปิดตัว The Founder II เพื่อนำเสนอมุมมองของบุคคลต้นแบบผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ หรือบุคคลรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจ ได้เห็นถึงบุคคลที่มีความสามารถทางด้านนวัตกรรมซึ่งสร้างทางรอดให้กับธุรกิจของตนได้ในภาวะวิกฤต (Innovation in Time of Crisis) จำนวน 25 ราย ได้แก่ Pandemic ผู้ก่อตั้งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด – 19 Climate Change ผู้ก่อตั้งองค์กรที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และ Economic Crisis ผู้ก่อตั้งองค์กรที่มีแนวทางการดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ โดยผู้ก่อตั้งองค์กร (The Founder)

       ทั้ง 3 กลุ่มยังถือเป็นต้นแบบแห่ง “นวัตกรรมเชิงความคิด” ที่จะทำให้เห็นตัวอย่างแนวคิดและรูปแบบที่ทำให้สินค้า – บริการสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน พร้อมเป็นกรณีศึกษาแบบไทย จากแต่เดิมที่มีแต่ตัวอย่างในแบบโลกตะวันตก ซึ่งนวัตกรรมแบบไทยนั้นถือว่ามีความน่าสนใจในแง่ความประณีต การผสมผสานของศาสตร์และศิลป์ ซึ่งต่างจากที่อื่นที่อาจมีความเป็นศาสตร์อย่างเดียว ทั้งนี้ คาดหวังว่าหนังสือ The Founder II จะช่วยตอกย้ำให้ผู้คนหันมาสนใจหลักการคิด วิธีปฏิบัติ เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงความคิด สิ่งที่มีมูลค่าและสามารถผลิตออกมาได้ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับแบรนด์นวัตกรรมไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดในอนาคตเช่นเดียวกัน

       ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั่วไป หรือบุคคลที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ The Founder II อ่านได้ในรูปแบบ e- Book พร้อมรับชมนิทรรศการเสมือนจริงที่ https://thefounder.nia.or.th/ ได้ตั้งแต่วันนี้ ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

                                                              ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ  

          ด้านนายชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด – 19 เปิดเผยว่า วิกฤตการระบาดโควิด -19 เป็นวาระระดับโลกที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน และแม้ว่าโอกาสจากวิฤตครั้งนี้จะทำให้ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรไทยได้รับความนิยม แต่ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ก็มองว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้สมุนไพรชนิดนี้มีคุณภาพ เกิดประโยชน์ในวงกว้างไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะกับอ้วยอันโอสถเท่านั้น

            ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทางบริษัทมองเป็นอันดับแรกก็คือองค์กรจะปรับตัวได้อย่างไร และจะทำให้ฟ้าทะลายโจรเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือได้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ โดยบริษัทมีการผสมผสานนวัตกรรมให้เหมาะสมกับศาสตร์แบบจีน และส่งนวัตกรรมผ่านอรรถประโยชน์ในเชิงการใช้ เช่น ยาน้ำเบื้องต้นสำหรับเด็ก สมุนไพรสำหรับนักวิ่ง ฯลฯ ให้เข้าถึงคนในสังคมที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้ สิ่งที่ให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ “หลักการคิด” ที่ผสมผสานทั้งแบบคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ซึ่งนับเป็นศิลปะและกลยุทธ์ที่มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความสร้างสรรค์ตอบโจทย์ที่ผู้บริโภคมองหา

                                                      สรณัญช์ ชูฉัตร  

          ส่วนนายสรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งในต้นแบบองค์กรที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ต้องลบภาพจำหรือมุมมองที่ทุกคนมีต่อแบรนด์นวัตกรรมไทยก็คือ คนไทยไม่ได้ทำได้แค่เพียงส่วนประกอบของสินค้า – บริการเท่านั้น อย่างเช่นในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยขึ้นชื่อในเรื่องของการผลิตชิ้นส่วนรถ ตอนนี้ต้องทำให้เห็นว่าไทยก็สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ได้ และทำให้ทุกคนมีโอกาสใช้นวัตกรรมที่มีคุณภาพได้เช่นเดียวกัน

        สำหรับอีทราน ในช่วงที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับทุกธุรกิจ แต่สิ่งที่บริษัทพยายามมองหาคือจุดที่เป็น Pain Point ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดในการสร้างสรรค์หรือพัฒนาสิ่งใหม่จนกลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยทำให้บริบทโลกดีขึ้น ทั้งนี้ อนาคตสิ่งที่เป็นเป้าหมายในฐานะแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายแรกของไทยก็คือ จะทำนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของโลกทั้งองค์ประกอบของรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังงานสะอาดให้ทุกคนเข้าใจและเข้าถึง การพัฒนา Super App หรือเชื่อมต่อนวัตกรรมไปยังภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม ฯลฯ และทำให้นวัตกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่เท่าเทียมทั้งกับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

                                                                  สุนทร เด่นธรรม

           ขณะที่นายสุนทร เด่นธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรที่มีแนวทางการดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ กล่าวว่า การจะก้าวสู่เป้าหมายที่แต่ละธุรกิจวางไว้ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ภายใต้ภาวะวิกฤตสิ่งสำคัญที่สุดคือ Business Model Innovation เพราะในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลง การคิดหรือการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมสามารถทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด

          นอกจากนี้ ในโลกที่ทุกอย่างแข่งขันกันด้วยความรวดเร็วสิ่งที่ทุกองค์กร/ทุกบริษัทควรมีคือ “การคิดหรือทำอย่างแตกต่าง” เพราะได้เปรียบกว่าการจะไปแข่งขันในเรื่องต้นทุน ราคา และสามารถสร้างประสบการณ์และมูลค่าได้ยั่งยืนกว่าทั้งมิติของสินค้าและบริการ เช่น บริษัท ฮิวแมนิก้าฯ ได้นำความคิดทั้งหมดเหล่านี้มาขับเคลื่อนองค์กรจนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการด้าน HR Solutions มากกว่า 3,000 องค์กร และแสดงให้เห็นว่าซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยก็มีประสิทธิภาพ และทำให้ทุกคนมั่นใจในนวัตกรรมที่เป็นแบรนด์คนไทยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แบรนด์นวัตกรรมไทยหากจะทำให้ทัดเทียมกับระดับโลกก็ต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องรู้จักวิธีการทำให้แตกต่างอย่างมีสุนทรียภาพ ซึ่งส่วนนี้เชื่อว่าเป็นความถนัดของคนไทย และเราจะได้เห็น Founder ที่เก่ง ๆ มากขึ้นแน่นอน