โดย… ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์
เก็บตกจากบนเวทีการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 60 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “เกษตรศาสตร์วิถีถัดไป พลิกวิกฤต สู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งได้จัดให้มีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “Metaverse กับโลกการศึกษาและวิจัยในอนาคต” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึง Metaverse และการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาและการวิจัยอย่างมีศักยภาพสูงสุดในอนาคต
การเสวนาในครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา นักวิจัยทีมโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ดร.ศิริศิลป์ กองศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ผศ.ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัล โลกเสมือน Metaverse ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาในอนาคตให้กับเวทีการเสวนาพิเศษ โดยมี รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
Metaverse คือโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์
ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา กล่าวถึงประเด็นการนำ Metaverse มาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย ว่า Metaverse คือโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ สามารถทำกิจกรรรมต่างๆ ร่วมกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์รองรับการเข้าถึงโลกเสมือน Metaverse ได้เริ่มต้นจากการที่เฟซบุ๊กได้พยายามผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เนื่องจากมีการแข่งขันและแย่งชิงพื้นที่
นอกจากนี้สถานการณ์โควิดทำให้คนไม่ออกจากบ้าน จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาครัฐเองก็ต้องให้บริการแบบออนไลน์ แต่ระบบออนไลน์ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูล จึงได้มีการนำระบบ AI มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการศึกษาวิจัย ซึ่งในอนาคตการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบใหม่ๆ จะต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่นการทวิตเตอร์ข้อความจากคลื่นสมองทำให้รู้ว่าแนวโน้มจะมีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนจะใช้ระบบบริการมากขึ้น ถ้า service อยู่ที่ไหนคนจะไปที่นั่น Metaverve สามารถระบุตัวตนของ user สามารถแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ หากการเตรียมพร้อมของ AI ดีก็จะทำให้เกิดสินทรัพย์ในโลกสมัยใหม่ ทำให้เกิดโลกจริงกับโลกเสมือน
โลกใน Metaverse สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้
ด้าน ดร.ศิริศิลป์ กองศิลป์ กล่าวถึง Metaverse กับการใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาและด้านพิพิธภัณฑ์ ว่า การสร้างโลกเสมือนจริง การใช้ Web 3.0 การใช้อินเตอร์เนต การใช้ข้อมูล ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ โครงการวิจัยระบบ Metaverse กับพิพิธภัณฑ์ นั้น ได้ศึกษาการเข้าถึงสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบางประเทศ ได้ใช้เทคโนโลยี scanning แบบ digital แล้วประมาลภาพให้เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี Destop AR technology ซึ่งต้องใช้แว่นพิเศษช่วย
ในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องไปถึงสถานที่ที่ต้องการเข้าชมหรือดู การเข้าถึงก็จะไม่ใช่แค่การเข้าชม เราสามารถเข้ามาเดินในโลกพิพิธภัณฑ์ได้ สามารถเลือกกิจกรรมที่อยากจะทำได้ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกหลายๆ ประเทศเริ่มมีการตื่นตัว เช่น อเมริกา ไอแลนด์ โรมาเนีย แอฟริกา ฯลฯ Metaverse จะทำให้คนทั่วไปสามารถเรียนรู้ และสัมผัสวัฒนธรรมทั่วโลกได้ ตัวอย่างเช่น Gallary for NFT Arts ในวงการศิลปะ สามารถทำให้คนมีส่วนร่วมในงานศิลปะได้ การมอบ NFT ให้กับผู้บริจาคจะเป็นการกระตุ้นให้มีการอยากมาร่วมทำกิจกรรม
ดังนั้น โลกใน Metaverse สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้ ด้านการศึกษาก็จะเป็นโลกของการเรียนที่มีการเชื่อมต่อกันได้ระหว่างคนเรียนกับผู้สอน
ขณะที่ ผศ.ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ กล่าวถึง Metaverse กับการประยุกต์ใช้ในการสอนออนไลน์และการฝึกทางการแพทย์ ว่า สถานการณ์โควิดที่ระบาดในไทย ทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปรับตัวเป็นการสอนออนไลน์ ตัวอย่างเช่นการใช้ WebEx แต่การใช้แพลตฟอร์ม WebEx ทำให้เห็นเฉพาะหน้านักศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถสื่อสารภาษากายได้ รวมทั้งมีพื้นที่ในการทำงานจำกัด การโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ในทางลบ ไม่สามารถเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ หรือประสบการณ์นั้นๆ ได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์ม Social VR Platform คือTeaching in Mozilla Hubs ซึ่งผู้เรียนสามารถรู้พื้นที่ภายในห้องเรียน ทำให้มีแรงดึงดูดในการเรียนได้ดีเหมือนอยู่ในปัจจุบัน สามารถอัพโหลดโปรแกรมต่างๆ ได้ สามารถเคลื่อนไหว และดูได้ทุกมิติ มีปฏิสัมพันธ์มากกว่าการเรียนรู้ทั่วไป ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนจะตื่นตัว รู้สึกเหมือนเรียนในห้องเรียนจริง
ส่วนการฝึกทางการแพทย์ หรือระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ปัจจุบันมีการนำ VR storytelling and Emotional connection มาศึกษาวิจัยในการฝึกให้เกิดความต้านทานต่อความเครียด โดยทำผ่าน mozilla hub โดยให้ผู้รับการฝึกทดสอบได้รับความเครียด หรือ Stress inoculation มีการจำลองจากสถานการณ์จริง ซึ่งจากการทดลองการวัดความเครียดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พบว่า หากผู้ประสบเหตุเบื้องต้นเกิดความเครียดจะทำให้ปฏิบัิติงานไม่ได้
อย่างไรก็ตาม วิทยากรทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นว่า เทคโนโลยียังมีช่องว่างที่จะต้องแก้ไขหรือพัฒนา ซึ่งคงจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อไป บทบาท หรือการเรียนรู้ การเกิดนักวิจัยใหม่ในโลกใหม่ๆ การเปิดมุมมองใหม่ๆ ต้องแยกความเป็นจริง และความเป็นโลกเสมือนให้ได้