นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง จะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศที่สามารถต่อยอดสร้างจรวดส่งดาวเทียมได้เอง

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง ความสามารถ ไม่แพ้ชาติใดในโลก ล่าสุดเป็นครั้งแรกของประเทศไทยจะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศเป็นผู้ทดสอบและทดลองในอวกาศ เผยอนาคตจะสามารถต่อยอดเพื่อสร้างจรวดส่งไปในอวกาศได้เอง

เรื่องราวดีๆของนักวิจัยไทย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จัดงานฉลองบันทึกความเข้าใจ (MOU) Kasetsart-NASA Memorandum of Understanding Celebration Ceremony พร้อมกับเปิดแถลงข่าวโครงการความร่วมมือวิจัย Liquid Crystal หรือ การศึกษาผลึกเหลว ในอวกาศ  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) นับเป็น MOU แรกที่ NASA ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี ผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Dr.Craig Kundrot Director of Biological and Physical Sciences Division, NASA  ดร.ปกรณ์  อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) Dr.Kirt Costello  Chief Scientist of the International Space Station (ISS), NASA  Mr. James Wayman Acting Deputy Chief of Mission, The United States Embassy in Bangkok  Dr.Francis Chiaramonte Program Scientist for Physical Sciences at NASA  รศ.ดร.อภิสิฏฐ์  ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ณัฐพร  ฉัตรแถม อาจารย์ผู้วิจัยหลักในโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยในอวกาศ

บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) ในการศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid Crystal ในอวกาศ เป็น MOU แรกที่ NASA        ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและทดสอบ set อุปกรณ์การทดลองที่จะถูกส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) และ NASA เป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่ง set อุปกรณ์นี้ขึ้นไปบน ISS เพื่อให้นักบินอวกาศของ NASA  เป็นผู้ทำการทดลองภายใต้การควบคุมการทดลองโดยทีมนักวิจัยจากประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม

ส่วนผู้ร่วมวิจัยในทีมประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล จาก GISTDA  โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ scientific part ของการทดลองนี้  และ GISTDA จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและทดสอบ set อุปกรณ์ โดยจะมีทีม engineer จาก NASA เป็นผู้กำกับดูแลร่วมกับทีมวิศวกรไทยในการสร้างอุปกรณ์ทั้งหมด  ซึ่งการทดลองนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศเป็นผู้ทดสอบและทดลองในอวกาศ  โดยการสร้างอุปกรณ์นี้ต้องสอดคล้องกับ safety criteria ของการทดลองที่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมในอวกาศ การทดลองนี้จะเป็นพื้นฐานให้ทีมอวกาศไทยสามารถต่อยอดเพื่อสร้างจรวดส่งไปในอวกาศได้เองในเวลาอันใกล้นี้

สำหรับผลึกเหลวหรือ Liquid crystal นั้นเป็นสสารที่ใช้เป็นหลักในหน้าจอ Liquid Crystal Display หรือ LCD ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทีวี และคอมพิวเตอร์ โดยอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงเป็นที่สนใจของ NASA  มากว่า 20 ปีแล้วในการจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอวกาศ

ผศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานของทีมวิจัยไทยร่วมกับองค์กร NASA มานานกว่า 20 ปีทำให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และ GISTDA มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทีมนักวิจัยไทยจะสามารถสร้าง set อุปกรณ์การทดลองนี้ได้สำเร็จและทำการทดลองร่วมกับนักบินอวกาศจาก NASA เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังได้อธิบายถึงการทดลอง Liquid Crystal บนสถานีอวกาศนานาชาติ อีกว่า ในการทดลองนี้นักวิจัยไทยจะทำการศึกษาผลึกเหลวหรือ Liquid Crystal ซึ่งเป็น complex fluid หรือของไหลที่ซับซ้อนเพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติทางความร้อนโดยละเอียดในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง  สิ่งที่สนใจในการศึกษาครั้งนี้ คือการสร้างฟิล์มบางของผลึกเหลวเพื่อศึกษาจุดพร่องหรือ defect ในโครงสร้างของผลึกเหลวซึ่งเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงของความร้อนในทันที

จุดพร่องที่ศึกษานี้เป็นสิ่งที่เกิดอยู่เสมอในหน้าจอแอลซีดี  การเข้าใจจุดพร่องซึ่งเป็นปัญหาหลักของแอลซีดีเป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกันทั่วโลก  การที่ทีมวิจัยได้มีโอกาสศึกษาจุดพร่องเหล่านี้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจะทำให้สามารถกำจัดผลของแรงโน้มถ่วงปัจจัยของแรงอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดจุดพร่องนี้  และจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเกิดจุดพร่องเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งจะทำให้สามารถกำจัดจุดพร่องเหล่านี้ออกจากเทคโนโลยีแอลซีดีที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันได้  อันจะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีแอลซีดีนี้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมหน้าจอแอลซีดีซึ่งมีมูลค่ากว่า 300,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน

ภายในงานแถลงข่าว ผู้วิจัยได้นำผลงานการวิจัยจาก Liquid Crystal มาแสดง ได้แก่ เทคโนโลยีแอลซีดี แสดงการทำงานของ pixel พื้นฐานของหน้าจอแอลซีดี การนำเสนอตัวอย่าง smart glass หรือกระจกอัจฉริยะที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เช่น ในกระจกรถยนต์รุ่นใหม่ และ ปัจจุบันได้นำไปใช้ในเครื่องบินโบว์อิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์  หน้าต่างของเครื่องบินรุ่นนี้ทั้งหมดสามารถปรับแสงได้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์  การนำเสนอเทคโนโลยี Liquid crystals ที่ใช้กับเลเซอร์เรียกว่าSpspatial light modulator โดยจะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงทางแสงที่แสดงให้เห็นว่าผลึกเหลวสามารถใช้ได้ใน การปรับเฟสของแสงซึ่งใช้ใน opto-technology ของการสื่อสารที่ต้องใช้ไฟเบอร์ออพติกเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมี prototype ของอุปกรณ์สร้างฟิล์มบางของผลึกเหลวสำหรับการทดลองภาคพื้นดินโดย prototype นี้จะถูกตัดแปลงต่อไปเพื่อสร้าง Microgravity Science Glovebox (MSG) ที่มีกล้องจุลทรรศน์บรรจุอยู่ภายในเพื่อศึกษาฟิล์มบางนี้บนสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งนี้ นักวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องสื่อสารกับวิศวกรอวกาศจาก GISTDAให้เป็นผู้สร้างเครื่องต้นแบบนี้ให้สามารถทนต่อการขนส่งทางจรวดขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติและทำงานได้ครบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการพิสูจน์ตามสมมุติฐานของจุดพร่องของผลึกเหลวที่ได้คาดการณ์ไว้

ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์