สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดตัวสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ “ทาซ่า” ให้เป็นแหล่งรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาทางการเกษตร พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หวังให้เกิดพลิกโฉมสู่การเกษตรสมัยใหม่ ตั้งเป้าสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรแม่โจ้ให้เป็น “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย”
วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วย รศ.ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายคมธัช วัฒนศิลป์ นายกสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว สมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นในการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2564 เรื่อง “นวัตกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพ” ด้วย
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายสำคัญด้านการเกษตรที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งจำนวนประชากรโลกที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 รวมถึงมูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั่วโลกที่สูงถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 234 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารและการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 40 ของอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้สตาร์อัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup เป็นหนึ่งในสาขาที่มีโอกาสการเติบโตสูง
ด้วยเหตุนี้ NIA จึงมีนโยบายในการเร่งส่งเสริมและผลักดันสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรของประเทศไทย รวมถึงสร้างให้เกิดระบบนิเวศด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการจัดตั้งสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย (Thai AgTech Startup Association; TASA) หรือ TASA ขึ้นมา ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ในการรวมพลังของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร
ดร. พันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาทางการเกษตรที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าสร้างให้ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ให้กลายเป็น “วัลเลย์นวัตกรรมการเกษตรของไทย” ที่จะมีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัย พื้นที่ทดสอบ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทยที่สามารถขยายสู่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกต่อไป
ด้าน รศ.ดร. วีระพล กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นจุดแข็งและแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรามีองค์ความรู้แบบครบวงจร และก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม 2 คือกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยไม่ละเลยความกินดีอยู่ดีและความเจริญวัฒนาของชุมชนฐานราก เรามีนโยบายในการส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งคำว่าระบบนิเวศหรือ Ecosystem นี้ หมายรวมถึงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยให้ได้รับการพัฒนา เติบโต และทำงานสอดประสานกันทั้งองคาพยพ เป็นภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน
รศ.ดร. วีระพล ทองมา
สำหรับการจัดตั้งสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ TASA (ทาซ่า) ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับพัฒนาการเกษตรของไทย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความร่วมมือ การต่อยอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ผนวกกับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหารที่จะสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกร ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรร่วมกันผ่านหลากหลายกิจกรรม เช่น การสร้างย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ที่ได้รับความร่วมมือจาก NIA เทศบาลท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชน
“สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจะเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีการเริ่มดำเนินการแล้วอย่างโครงการ “เชียงใหม่โมเดล” โครงการ MJU-2-T (เอ็มเจยู ทูที) หรือโครงการที่สร้างคนรุ่นใหม่ เช่น New Breed Smart Farmer ตลอดจนโครงการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ตลอด Supply Chain ให้ได้ผลิตผลคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพเกษตรในกลุ่มการสร้างตลาดออนไลน์ ให้กระจายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในวงกว้าง รวมถึงการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร Maejo Agro Food Park หรือ MAP ได้อีกด้วย” รศ.ดร. วีระพล กล่าว
คมธัช วัฒนศิลป์
ขณะที่นายคมธัช กล่าวด้วยว่า การจัดตั้ง TASA ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการผสานความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรด้วยกัน ตลอดจนสมาชิกกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไทยประสบความสำเร็จในการประกอบการ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา และพัฒนาภาคการเกษตรไทยเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 และ BCG model ของรัฐบาล
โดยมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) Synergy: สร้างความร่วมมือ เชื่อมโยง เชื่อมประสานธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรไทยด้วยกันเองและกับองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการพัฒนานวัตกรรมสูงสุดต่อเกษตรกรไทย 2) Standard: สร้างมาตรฐานด้านนวัตกรรมเกษตรให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องตามหลักสากล และ 3) Sustainable: สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจชุมชนของเกษตรกรด้วยการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคการเกษตร”สมาคมฯ จึงเป็นกลุ่มอาสาที่สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Maker เพื่อพลิกโฉมวงการเกษตรไทยและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ในช่วงก่อตั้งมีสมาชิกอยู่ 26 ราย ที่มีแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรตลอดทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวทางร่วมกันที่จะสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน และการสร้างตลาดให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งต่อไปจะมีการเพิ่มทั้งจำนวนและคุณภาพของสตาร์ทอัพเกษตรได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ที่จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบ S-curve ต่อไป ดังนั้นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และหน่วยงานพันธมิตร ที่สนใจร่วมดำเนินงานกับสมาคมฯ สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ตั้งแต่วันนี้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : TASA-Thai AgTech Startup Association