สวพ.3 สุดเจ๋ง ผลิตชีวภัณฑ์ใหม่ “บีเอส ดีโอเอ-19W6” พิชิตโรคกุ้งแห้งพริกได้สำเร็จ ชูผลิตง่าย ทุนต่ำ ทำเองได้เลย

  •  
  •  
  •  
  •  
สวพ.3 สุดเจ๋ง ต่อยอดเทคโนโลยีผลิตชีวภัณฑ์ จนได้ชีวภัณฑ์ชนิดใหม่ “บีเอส ดีโอเอ-19W6” สามารถสยบโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้งพริกได้สำเร็จ  ชูจุดเด่นผลิตง่าย เกษตรกรทำเองได้เลย  ต้นทุนต่ำเพียงไร่ละ 600 บาท  ลดการระบาดโรคได้กว่า 60 %  ให้ผลผลิตเพิ่ม12 % แถมยังเก็บผลผลิตได้เพิ่มมากกว่า 5 รุ่นอีกด้วย
        ดร.นฤทัย  วรสถิตย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น (สวพ. 3) กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรคแอนแทรคโนสหรือที่เกษตรกรเรียกว่าโรคกุ้งแห้งพริกเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุดต่อการปลูกพริกของเกษตรกรทั่วทุกภาคโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถเข้าทำลายต้นพริกได้ทุกระยะการเจริญเติบโตทั้งต้น ใบ ดอก และผลพริก ทำความเสียหายแก่ผลผลิตทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์
 
        ทาง สวพ.3 จึงได้วิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์ชนิดใหม่ โดยนำเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส (บีเอส) ที่มีการคัดเลือกเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการต่างๆ มาศึกษาต่อยอด  ทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนสของพริก และพัฒนาวิธีการผลิตให้เป็นชีวภัณฑ์แบบพร้อมใช้ที่ผลิตขยายได้ง่ายและต้นทุนต่ำ
     ในที่สุดจนได้ชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19 W6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.)หน่วยงานในส่วนกลางของกรมวิชาการเกษตรได้ทดสอบว่า มีประสิทธิภาพสามารถควบคุมโรคกุ้งแห้งพริกได้ผล  โดยชีวภัณฑ์ บีเอส ดีโอเอ-19W6 มีจุดเด่นที่สามารถผลิตขยายได้ง่าย เกษตรกรสามารถผลิตเองได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและพัฒนา
 
        สำหรับ การผลิตขยายชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6  มีวิธีการที่ไม่ยุ่งยากวัสดุอุปกรณ์สามารถหาได้ง่าย ประกอบด้วย หัวเชื้อ บีเอส ดีโอเอ-19 W6  นมกล่องสเตอริไลส์ (นม UHT) รสจืดยี่ห้อใดก็ได้  เข็มฉีดยาขนาดเบอร์ 25  กระบอกฉีดยาขนาด 5 มิลลิลิตร และสก็อตเทปใส 
 
         วิธีการผลิตขยายให้แกะฝากล่องนมบริเวณด้านข้างให้ยืดขึ้นไปเป็นรูปสามเหลี่ยม และมองเห็นจุดฟอยล์สีเงินสำหรับแทงหลอดดูดชัดเจน  จากนั้นนำเข็มฉีดยาต่อกับกระบอกฉีด แล้วดูดหัวเชื้อบีเอส ดีโอเอ-19W6 ปริมาตร 2 มิลลิลิตร จากขวดหัวเชื้อและฉีดหัวเชื้อ บีเอส ดีโอเอ-19W6 ลงในนม ปริมาตร 200 มิลลิลิตร (1 กล่อง) ตรงบริเวณกระดาษฟอยล์สีเงินสำหรับแทงหลอดดูด
       แล้วจึงใช้สก็อตเทปใสปิดทับบริเวณรอยที่ฉีดหัวเชื้อลงไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น   นำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้เชื้อแบคทีเรียขยายเพิ่มปริมาณในนม ก่อนจะนำไปใช้ หากใช้ไม่หมดสามารถเก็บไว้ได้ 12 วัน ที่อุณหภูมิห้อง  ส่วนเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยก่อนเก็บให้นำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที  และก่อนนำมาใช้ในครั้งต่อไปให้ต้มในน้ำเดือดอีกประมาณ 5 นาที
 
      ส่วนวิธีการใช้ชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6 ป้องกันกำจัดโรคกุ้งแห้งพริก ทาง ดร.รัติกาล ยุทธศิลป์ นักวิจัยหลักที่พัฒนาต่อยอดจนได้ชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6   ได้ให้คำแนะนำว่า ในระยะต้นกล้า ให้นำชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6 ที่ขยายในนม อัตรา 100 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร และสารจับใบ (อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก) พ่นลงบนต้นกล้าที่เริ่มมีใบจริง (อายุประมาณ 10 วัน หลังเพาะ) และพ่นซ้ำทุก 7 วัน จนกว่าจะย้ายปลูก
ในระยะที่พริกติดดอกและเริ่มติดผลเขียว ให้นำชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6 ในอัตราดังกล่าวพ่นทุก 7 วัน จนกว่าจะเก็บผลผลิตหมด  โดยควรพ่นตอนเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงแดด และพ่นให้ทั่วทั้งต้นจนเปียก
    ดร.นฤทัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชีวภัณฑ์บีเอส ดีโอเอ-19W6 สามารถควบคุมโรคกุ้งแห้งพริกได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้การระบาดของโรคลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์   ที่สำคัญคือสามารถผลิตขยายได้ง่ายในนมกล่อง  ใช้ต้นทุนต่ำเพียงไร่ละประมาณ 600 บาท  โดยเชื้อที่ขยายในนม 2 กล่องผสมน้ำสามารถพ่นพริกได้จำนวน 1 ไร่  ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 12%  และยังสามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า 5 รุ่น
 
      อย่างไรก็ตาม หากมีโรคกุ้งแห้งพริกระบาดเกษตรกรจะเก็บผลผลิตได้ไม่เกิน 2 รุ่น  โดยที่ผ่านมา สวพ.3 ได้ผลิตและกระจายหัวเชื้อให้เกษตรกรนำไปใช้ป้องกันและกำจัดโรคกุ้งแห้งพริกแล้วในจังหวัดขอนแก่น  กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และนครพนม เกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้งแห้งพริกสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 043-203500 ต่อ 292