“เอ็นไอเอ” จับมือพันธมิตร ปั้นสาร์ทอัพด้านการเกษตร หวังพลิกโฉมเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทย จัดโชว์ 14 ผลงานจากวิสาหกิจ ที่เริ่มต้นร่วมโครงการ 14 ราย ในกิจกรรม AgTech Connext 2021 Demo Day เตรียมพร้อมลุยขยายผลทั้งประเทศและอาซียน ผลการคัดเลือกได้แล้ว 4 กลุ่มสตาร์ทอัพคนเก่งคว้าเงินรางวัลรวม 3 แสนบาท
วันที่ 17 กันยายน 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดกิจกรรม AgTech Connext 2021 Demo Day ขึ้น เพื่อเป็นเวทีนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่จะไปแก้ปัญหาทางการเกษตรในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพในการปรับเปลี่ยนการเกษตรของไทยให้กลายเป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์ม AgTech Connext จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ หน่วยงานให้การสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
หน่วยงานพร้อมสนับสนุนเงินร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพอย่างบริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งภาคเอกชนทั้งจากบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มอบเครดิต AWS Cloud ให้แก่สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้สนับสนุนเงินรางวัลรวมมูลค่า 300,000 บาท ให้กับสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรรมไปใช้งานจริงกับเกษตรกรได้ยอดเยี่ยม โดยมีสตาร์ทอัพ หรือวิสาหกิจ ที่เริ่มต้นด้านการเกษตรเข้าร่วมโครงการ 14 ราย
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า NIA มีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร และวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมียุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะต่อไป คือ มุ่งเน้นการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนผ่านกลไกและเครื่องมือ 4 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มปริมาณ การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มความหลากหลาย และการสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ สามารถเป็นผู้นำการพลิกโฉมวงการเกษตร (Agriculture Transformation) ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของโลกอันดับ 2 ซึ่งเมื่อมองวิเคราะห์ดูพบว่ามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่มีมากกว่า 130 บริษัท หรือ ในประเทศจีนที่มีการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตรอย่างเข้มข้น และมีการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำได้
ดังนั้น NIA เร่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเติบโตของทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน โดยในโครงการ AgTech Connext ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะผลักดันและเร่งให้สตาร์ทอัพเข้าสู่สนามการทำงานจริง นั่นคือการร่วมทดสอบและลงในพื้นที่จริงของเกษตรกร แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ จึงทำให้เกิดความท้าทายกับสตาร์ทอัพในการปรับตัวและสร้างสรรค์กลยุทธ์การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อให้การทำงานดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในแต่ละทีมก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นความเฉพาะพิเศษของสตาร์ทอัพ ซึ่งในวันนี้จะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมพลิกโฉมเกษตรไทยให้ก้าวต่อไป
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า 14 สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้เป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน โดยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อปิดจุดอ่อนสำคัญของสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จในการขยายการเติบโตของธุรกิจและตอบโจทย์ตรงใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นจึงมีการนำผลิตภัณฑ์และบริการไปใช้จริงกับเกษตรกรและผู้ใช้งาน เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบและเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart Agriculture รวมถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สังคมเกษตรด้วยนวัตกรรม โดยมีผลการดำเนินงานที่น่าสนใจประกอบด้วยสตาร์ทอัพ กลุ่มต่างๆ อาทิ
1.การนำไอโอทีแก้ปัญหาการเกษตรสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนและตรวจสอบย้อนกลับได้ ได้แก่ เดอะบริคเก็ต: ระบบบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ด้วยการควบคุมไอโอทีอย่างแม่นยำ ฟาร์มไทยแลนด์: ระบบควบคุม ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่มีผลการทดสอบการใช้งานในพื้นที่ให้เป็นประสิทธิภาพของการผลิตด้านการเกษตร ลดการใช้แรงงาน และประหยัดต้นทุนด้วย
2.วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่สนับสนุนการทำเกษตรและมีรูปแบบธุรกิจใหม่รองรับ ได้แก่ โนวี่ โดรน พัฒนาโดรนให้เหมาะกับประเทศไทย ร่วมกับ เก้าไร่ ที่มีแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรที่ต้องการใช้โดรน และนักขับโดรน เพื่อให้เกิดการบริการแบบคุ้มค่าประหยัดเวลา หรือ โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง ออกแบบโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูงด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิตที่ตอนนี้โฟกัสไปในกลุ่มกัญชงกัญชา
3.นวัตกรรรมแก้ปัญหาการเก็บรักษาสินค้าเกษตร ได้แก่ อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง ที่แก้ปัญหาส่งออกมะม่วงทางอากาศไม่ได้จากการหยุดบินในช่วงล็อคดาวน์ โดยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้วสามารถยืดอายุทำให้ใช้เรือในการขนส่งแทนได้ ช่วยลดค่าขนส่งเป็นอย่างมาก
4.การสร้างตลาดออนไลน์ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสร้างแบรนด์ร่วมกัน ได้แก่ แคสปี้ จะร่วมสร้างแบรนด์สินค้าให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าถึงตลาดออนไลน์ อควาบิซ มีการแปรรูปอาหารกลุ่มสัตว์น้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้นและขายผ่านออนไลน์ครบวงจร
เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์ พัฒนาการสร้างตลาดสินค้าชุมชนสู่ออนไลน์ เริ่มดำเนินงานร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก นครปฐม นครนายก และมหาสารคาม ฟาร์มโตะ ระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์ และ รีคัลท์ ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ จนมีเกษตรกรในแพลตฟอร์มมากกว่า 5 แสนราย พร้อมต่อยอดรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อทำเป็นตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ 7 วัน 7 ฟาร์ม ที่ทุกแพลตฟอร์มได้อนิสงค์จากการเติบโตของตลาดออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด ทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าการสร้างการเติบโตของธุรกิจชุมชนร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ
6.การเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นเกษตรแม่นยำ ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการเกิดลูกวัวได้เพศตามต้องการสำหรับวัวเนื้อและวัวนม พร้อมมีแนวทางการส่งสินค้าทั่วประเทศและสร้างเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา ไบโอ แมทลิ้งค์ ระบบบริหารจัดการและดูแลการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถควบคุมการผลิตได้ทุกขั้นตอน ได้นำร่องกับกลุ่มปลูกมันที่จังหวัดกาญจนบุรี ให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้นพร้อมมีคุณภาพมีปริมาณแป้งสูงขึ้น จะทำให้ขายให้กับกลุ่มโรงงานได้ราคาดีขึ้น
ในอีกกลุ่มของกลุ่มประมง อัลจีบา พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น สามารถตอบโจทย์กับหน่วยงานวิจัยและผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมขยายผลสู่ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ ดร. ชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (เอฟไอที) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจเอฟไอที มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์และส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรและคู่ค้าผ่านโซลูชั่นที่มีนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรมการเกษตรและห่วงโซ่อุปทานการเกษตรให้มีความปลอดภัย รับผิดชอบ และตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยโครงการ AgTech Connext เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างเอฟไอทีและภาครัฐที่จะส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้กับประเทศ
นอกจากนี้ เอฟไอที ยังมีเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายรัฐ ด้าน BCG (Bio-Circular-Green) Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากธุรกิจของเอฟไอทีเองให้เป็นศูนย์ และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเซนของกลุ่มธุรกิจให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งหลังจากงานในครั้งนี้ ทางกลุ่มธุรกิจฯ ยังเปิดโอกาสให้ AgTech startup ที่สนใจจะเป็นพาร์ทเนอร์หรือร่วมงานกับทางเอฟไอที เพื่อเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับกลุ่มเกษตรกร หรือคู่ค้าของเอฟไอที ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย”
สำหรับการผลการตัดสินในวันนี้ สตาร์ทอัพเกษตรผู้ชนะ (ตัดสินจากคณะกรรมการ) ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว รับเงินรางวัล 150,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ อีเด็น อะกรีเทค, รับเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ อัลจิบ้า รับเงินรางวัล 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ทางโครงการจัดให้มีรางวัล The Popular AgTech Connext 2021 Award (ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) ได้แก่ อีเด็น อะกรีเทค ได้อีกรางวัลหนึ่ง รับเงินรางวัล 20,000 บาท
ผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017 5555 ต่อ 552 (ทินวิฒน์) มือถือ 098-257 0888 อีเมล Thinnawat.s@nia.or.th เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand
สำหรับสตาร์ทอัพที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ กลุ่มน้ำเชื้อว่องไว ได้รางวัลชนะเลิศ ซึ่งคิดค้นนวัตกรรมในการผลิตน้ำเชื้อโคคัดเพศ ที่มีเป็นเซ็นในการติดเชื้อทั้งท้องกว่า 90 % และสามารถระบุเพศได้กว่า 75 % บริการให้เกษตรกรเพียงหลอดละ 200 บาท เท่านั้น แต่ถ้าจะให้มีการบริการวางแผนคิดในราคา 2,000 บาทต่อ 1 แม่โค ล่าสุดได้เตรียมที่จะขยายกิจการสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ สปป.ลาว
ส่วนอีเด็น อะกรีเทค ที่ได้รางวัลรองชนะเลิษอันดับ 1และรางวัล The Popular AgTech Connext 2021 Award เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมสารเครือบยืดอายุพืชผัก ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง ทั้งนี้เนื่องจากว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตรประสบปัญหาพืชผัก ผลไม้ และผลไม้ตกปีละ 3-6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเกิดการเสียหายที่จากสุกงอมเร็ว จึงคิดสารเครือเพื่อยืดอายุได้นานขึ้น 25-50 % และจะสามารถลดความเสียได้
ขณะที่ อัลจิบ้า กลุ่มสตาร์ทอัพ ทเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ รวดเร็ว แม่นยำมีหลักฐานการนับที่แน่นอน ซึ่งเกิดมาจากแนวคิดมาจากที่ผ่านมาธุรกิจการเพาะขยายลูกสัตว์น้ำกุ้ง ปู ปลา เวลาลูกค้าซื้อต้องใช้พนักงานมานับเป็นรายตัวโดยอาศัยประสบการและความชำนาญ แต่กระนั้นยังทำให้เกิดการสูญเสียราย 20 % จาการที่นับขาดและเกิน + – กว่า 20 %
ดังนั้นจึงคิดค้นนวัตกรรมในการรับลูกสัตว์ขึ้นมา ที่มีความแม่นยำ รวดเร็วกว่าใช้คนนับถึง 60 เท่า และทราบว่าในตลาดโลกมีความต้องการเครื่องนับลูกสัตว์น้ำมีมูลค่ากว่า 3,000 ล้าน ซึ่งปัจจุบันตลาดภายในประเทศสดใสมีลูกค้าที่เป็นบริษัทเอกชนกว่า 80 % ที่เหลือเป็นหน่วยราชการ