มก.จับมือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมพัฒนาวิจัยพืชสมุนไพร-พืชเสพติดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

  •  
  •  
  •  
  •  

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติดเพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2567

      วันที่ 15 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ลงนาม  ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จัดในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom meeting  พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่าน Fan page มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

     การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในด้านวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการใช้พืชสมุนไพร และพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมถึงการดำเนินการด้านเภสัชกรรม เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพืชสมุนไพร และพืชเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร และพืชเสพติด รวมถึงสารสกัด และผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร และพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์  เพื่อการคิดค้น ผลิต พัฒนาสายพันธุ์ จัดจำแนกสายพันธุ์ ให้ได้วัตถุดิบพืชสมุนไพร และพืชเสพติดคุณภาพดีสำหรับสูตรตำรับยา และวิธีการบำบัดโรคให้มีคุณภาพและความปลอดภัย

    นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของพืชสมุนไพรและพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายของพืชสมุนไพร ทำให้แนวโน้มความต้องการของตลาดโลกนั้นมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีการศึกษาที่หลากหลายที่แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติดในครั้งนี้มีระยะเวลาในการดำเนินงานร่วมกัน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน พ.ศ.2567

   ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า งานวิจัยด้านสมุนไพรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสกลนครมาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันและมีต้นแบบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหลากหลายชนิด อาทิ ว่านสาวหลง ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น รวมถึงงานวิจัยด้านพืชเสพติด เช่น กัญชา มหาวิทยาลัยมีการดำเนินงานในภาพรวม

    ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณานโยบาย แนวทางการวิจัย และโครงการวิจัยที่มีการใช้กัญชา และพืชเสพติดอื่นๆ  ได้แก่ คณะอนุกรรมการพืชเสพติดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  คณะกรรมการนโยบายงานวิจัยด้านกัญชา กัญชง และพืชเสพติดอื่นๆ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  คณะทำงานขับเคลื่อนงานวิจัยด้านกัญชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  คณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศพืชสมุนไพรและพืชเสพติดทางการแพทย์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

    “การลงนามข้อตกลงร่วมมือด้านการวิจัยพืชสมุนไพรและพืชเสพติด ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินงานอีกขั้น เพื่อการผลิตกัญชาคุณภาพสูง โดยเฉพาะที่วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งถือว่ามีประสบการณ์ในการวิจัยและผลิตกัญชาคุณภาพสูงให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยมาแล้ว จึงมีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากร และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนร่วมมือกันผลิตพืชสมุนไพร และพืชเสพติดเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านพืชสมุนไพรและพืชเสพติด อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” ดร.จงรัก กล่าว