” “ถุงโรฒ 2020″ เป็นวัสดุย่อยสลายทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่สามารถผลิตได้ง่าย ด้านสังคม ด้านชุมชนและพื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถุงโรฒ2020 (rot2020) เป็นถุงเพาะชำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมชนิดใหม่ที่คนในชุมชน เกษตรกร สามารถผลิตใช้ได้เอง”
จากข้อมูลระบุว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการใช้ถุงเพาะปลูกพืชจำนวนมาก ใช้ถุงเพาะชำปีละประมาณ 100 ล้านใบ ทำให้ประสบปัญหาปริมาณขยะพลาสติกจากภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถุงเพาะชำที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดเป็นถุงพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 600 ปี ขึ้นไป ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นขยะที่มีมลพิษทั้งบนพื้นดิน และบางครั้งไหลลงสู่ทะเลเป็นมลพิษต่อสัตว์น้ำ เกิดเป็นไมโครพลาสติกที่กลับมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์
ดังนั้น การใช้ถุงเพาะชำที่ผลิตจากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ ล่าสุด ผศ.ศิวโรฒ บุญราศรี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้คิค้น ประดิษฐ์ถุงเพาะชำ “โรฒ-2020” (ROT -2020) ที่ย่อยลสยได้ เพื่อวัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลงานวิจัยของ จึงเป็นอีกทางเลือกในภาคการเกษตร ที่เกษตรกรทำเองได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ช่วยลดขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผศ.ศิวโรฒ บอกว่า “ถุงโรฒ-2020” เป็นถุงเพาะชำที่ผลิตจากการนำกระดาษ ซึ่งจะเป็นประดาษอะไรก็ได้ เช่น กระดาษคราฟท์น้ำตาล กระดาษชานอ้อย กระดาษใบสัปปะรด กระดาษใบกล้วย จากแหล่งชุมชน กระดาษเหลือใช้จากสำนักงาน มาเคลือบด้วยส่วนผสมของแป้งและน้ำยางพารา สูตรที่คิดค้นขึ้นในปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อแห้งแล้วจึงนำมาขึ้นรูปเป็นถุงเพาะชำ
ทั้งนี้คุณสมบัติของยางพาราทำหน้าที่ป้องกันการซึมผ่านของน้ำ แป้งข้าวเหนียวทำให้ย่อยสลายได้ง่าย กระดาษช่วยยึดโครงสร้างถุงให้แข็งแรง ดังนั้น ในการทำถุงเพาะชำดังกล่าววัสดุแต่ละชนิดช่วยเสริมคุณสมบัติซึ่งกันและกันทำให้ได้ถุงเพาะชำกล้าไม้ที่สามารถใช้งานได้ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน – 1 ปี เท่านั้น
“ถุงโรฒ-2020″ นอกจากจะมีประโยชน์ทางตรงในการเพาะชำกล้าไม้แล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายด้าน อาทิ ด้านวิชาการ ถุงโรฒ 2020 เป็นวัสดุย่อยสลายทางชีวภาพชนิดใหม่ ที่สามารถผลิตได้ง่าย ด้านสังคม ด้านชุมชนและพื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถุงโรฒ2020 (rot2020) เป็นถุงเพาะชำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมชนิดใหม่ที่คนในชุมชน เกษตรกร สามารถผลิตใช้ได้เอง
อีกทั้ง ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ยางพารา และมันสำปะหลัง วัสดุชีวภาพ วัสดุสีเขียว และเศษฐกิจหมุนเวียน รวมถึง ด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ยางพารา มันสำปะหลัง ได้ถุงเพาะชำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดการไหลวนของระบบเศษฐกิจ ในประเทศไทยการเพาะชำกล้าไม้มีการใช้ถุงเพาะชำประมาณ 100 ล้านใบต่อปี
นอกจากนี้ยังมีความต้องการของภาคเอกชนอื่น ๆ ที่ต้องการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักปลอดภัยอีกจำนวนมาก แม้ในขณะนี้ต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ประมาณใบละ 80 สตางค์ แต่ในอนาคตซึ่งกำลังอยู่ในการขอจดสิทธิบัตรเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จะเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกรได้ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผศ.ศิวโรฒ บอกอีกว่า ถุงเพาะชำ “โรฒ-2020” (ROT- 2020) วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัลชมเชยประเภทประชาชนทั่วไป จากการประกวดใน “โครงการประกวดบรรจุภัณฑ์วัสดุทดแทนถุงเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” จัดขึ้นโดยกรมป่าไม้ ซึ่งเข้ารับมอบเกียรติบัตร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยมี นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เป็นผู้แทนมอบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ศิวโรฒ บุญราศรี สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 090 519 4926 E-mail: siwarote.b@mju.ac.th