ทีมนักวิจัย มช.ค้นพบไรชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่แปลงคณะเกษตรศาสตร์ คาดต่อยอดได้ในอนาคต

  •  
  •  
  •  
  •  

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียง ค้นพบไรชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่แปลงคณะเกษตรศาสตร์ อยู่ในสกุลที่มีวิวัฒนาการร่วมกับแมลงภู่เอเชีย อาศัยอยู่ในท้องของแมลงภู่ ด้วยความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ชี้มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อยอด นำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงและอนุรักษ์ผึ้งในอนาคต

      ด้วยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์และความหลายหลากทางทรัพยากรชีวภาพ ด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิดและรูปแบบต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ จุลินทรีย์ เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางระบบนิเวศที่สำคัญ ทำให้นักวิจัยได้ค้นพบไรชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่แปลงคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       จากการศึกษาค้นคว้าของทีมนักวิจัย นำโดยอาจารย์ ดร.กรวัฒน์ อรรถโสภา ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้วิจัยร่วมได้แก่ Dr. Rafael R. Ferrari จาก Institute of Zoology, Chinese Academy of Sciences, China  รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา   คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และ Dr. Hans Banziger จากภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบไรในสกุลที่มีวิวัฒนาการร่วมกับแมลงภู่เอเชีย โดยไรอาศัยอยู่ในท้องของแมลงภู่ ด้วยความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (mutualism) และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยไรชนิดใหม่นี้

     จากหลักฐานทาง DNA การศึกษารูปพรรณสัณฐานภายนอก อีกทั้งคุณสมบัติเฉพาะของโครงสร้างสิ่งมีชีวิต สัณฐานวิทยาและแผนภูมิทางวิวัฒนาการ โดยตั้งชื่อไรชนิดใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ว่า Dinogamasus saengdaoae Attasopa & Ferrari, 2021 เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณแสงดาว แบนซิเกอร์ เจ้าหน้าที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ให้การสนับสนุนคณะวิจัยในครั้งนี้ การค้นพบยังทำให้รู้ข้อมูลว่าไรสกุลนี้สามารถกินเชื้อราก่อโรคได้ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะอาศัยความรู้นี้เพื่อการพัฒนาต่อยอด นำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงและอนุรักษ์ผึ้งในอนาคต

    ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นในการสร้างผลงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เกิดงานวิจัยขั้นแนวหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัยให้คงความอุดมสมบูรณ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่นักศึกษาและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป