กรมปศุสัตว์ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคปาก-เท้าเปื่อยแบบใหม่ ทดลองในหนู 3 วันมีภูมิคุ้มกันแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมปศุสัตว์ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยรูปแบบใหม่ 2 ชนิด ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และชนิดคล้ายอนุภาคไวรัส ผลการทดลองในหนูเพียง 3 วันสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แล้ว ขณะแบบเก่าต้องใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ 

        นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ที่ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ชนิดน้ำ ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง ผ่านการทำให้เข้มข้น บริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ ด้วยสาร Binary ethylene imine (BEI) ซึ่งโดยทั่วไปสัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังจากฉีดวัคซีน 3-4 สัปดาห์ และอยู่ได้นาน 6 เดือน นับเป็นวัคซีนรูปแบบเดิมที่นิยมใช้กันมานานแล้ว

       ล่าสุดกรมปศุสัตว์ โดย สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ จึงอยู่ระหว่างการดำเนินงานวิจัยผลิตวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยรูปแบบใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยใช้ไวรัสอะดีโน สายพันธุ์ 5 (Adenovirus type-5 vectored, Ad5) และวัคซีนชนิดคล้ายอนุภาคไวรัส (Virus-like  particle vaccine, VLP)

      ผลการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนดังกล่าวเบื้องต้น พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน และอยู่ระหว่างการทดสอบระยะเวลาคงอยู่ของภูมิคุ้มกันในร่างกายสัตว์ ซึ่งหากงานวิจัยได้ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ จะสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ควบคุมการระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้วัคซีนรอบจุดเกิดโรค (ring vaccination)