เปิดตัว 3 เครื่องจักรกลใช้ในไร่อ้อย ลดปัญหาขาดแรงงาน รวดเร็ว เพิ่มผลผลิต เป็นมิตร สวล.

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร สนองนโยบาย “เกษตรปลอดการเผา” พัฒนา 3 เครื่องจักรกลใช้สำหรับไร่อ้อย ” ครื่องสางใบ-สับใบระหว่างแถว-สับใบและเศษซากอ้อย”  หวังแก้ปัญหาการเผาไร่ก่อนการเก็บเกี่ยวหรือตัดอ้อย เผยการทำงานรวดเร็ว แทนแรงงานคนได้ดี แถมยังเพิ่มผลผลิตลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะ และลดโลกร้อนด้วย

       นายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  การเผาใบและเศษซากอ้อยเป็นปัญหาที่สำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย นอกจากจะทำให้ผลผลิตและความหวานอ้อยลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ผลกระทบจากปัญหาการเผาใบอ้อยที่เห็นได้ชัดเจน คือทำให้เกิดเขม่าควัน รวมทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่จะทำให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ

      ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงได้ประดิษฐ์คิดค้นพัฒนาเครื่องจักรกลที่ใช้แก้ปัญหาการเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนและหลังเก็บเกี่ยวโดยที่ผ่านมา ได้แนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วจำนวน 3 เครื่อง ได้แก่ เครื่องสางใบอ้อย เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเนื่องจากขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยสดเครื่องนี้จะช่วยตัดอ้อยสดได้เร็วขึ้นกว่าการตัดอ้อยสดแต่ไม่สางใบ ใช้กับรถแทรกเตอร์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาด 24 แรงม้า

      เครื่องสับใบระหว่างแถวอ้อยตอเพื่อกำจัดใบและเศษซากอ้อยในอ้อยตอโดยไถสับคลุกเคล้าลง ไปในดินทำให้เกิดการย่อยสลายง่ายสามารถลดเชื้อเพลิงลงได้ และช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้อ้อยตอมีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง และไว้ตอได้หลายปี ช่วยลดการเผาใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว เครื่องนี้สามารถทำงานวันละ 30-50 ไร่ ใช้กับแทรกเตอร์ขนาดตั้งแต่ 90 แรงม้า ขึ้นไป 

      เครื่องสับใบและเศษซากอ้อยในการเตรียมดินปลูกใหม่ เพื่อลดอุปสรรคในการเตรียมดินในขณะที่มีใบและเศษซากอ้อยเหลืออยู่ในแปลง ทำให้ชาวไร่ไม่ต้องเผาใบก่อนการเตรียมดิน ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถช่วยให้ชาวไร่ลดการเผาใบทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้มีการตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาดตั้งแต่ 75 แรงม้าขึ้นไป

     ทั้งนี้ เครื่องจักรกลทั้ง 3 เครื่องนี้สามารถช่วยได้ทั้งด้านการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตอ้อยให้แก่เกษตรกรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานกรมวิชาการเกษตรโทรศัพท์ 0-3552-8255