สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เดินหน้าส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม เน้นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ให้สามารถเข้าถึงกระบวนการจดสิทธิบัตร และองค์ความรู้ด้านกฎหมายผ่านกิจกรรม โครงการ และเงินทุนของ NIA หวังสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยมาใช้ใประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง เผยกว่า 5 ปีที่ดำเนินงานมา ได้ให้เงินทุนเป็นค่าใช้สิทธิกว่า 50 โครงการ เป้าปี 2564 ขยายเครือข่ายสู่ระดับภูมิภาคภายใต้ธีม “ติดปีกธุรกิจด้วยเครื่องหมายการค้า รู้ทันสร้างสรรค์โลโก้ยกระดับองค์กร” ซึ่ในพื้นที่ 4 ภาค
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาขน) หรือ เอ็นไอเอ (NIA) กล่าวว่า NIA เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมจดสิทธิบัตร เนื่องจากสิทธิบัตรถือเป็น “เครื่องมือ” หนึ่งในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการนวัตกรรมกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรือ Deeptech เป็นแกนหลักในการพัฒนาธุรกิจ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
ดังนั้น จึงมุ่งวางแนวทางการดำเนินงานเชิงรุกที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาและงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนา “ระบบนิเวศทรัพย์สินทางปัญญา (IP Ecosystem)” ของประเทศ ผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งในรูปแบบองค์ความรู้ เครือข่าย และเงินทุน NIA สามารถให้ทุนสนับสนุนการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีหรืออนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IP Licensing) โดยเป็นค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือค่าใช้สิทธิ (License Fee) จำนวนร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเมินได้ในแต่ละโครงการ สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ขอรับทุนภายใต้กลไกนวัตกรรมแบบเปิด และสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ขอรับทุนภายใต้กลไกนวัตกรรมมุ่งเป้า
นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสำนักงานกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้าน IP ในระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อให้ทนายความสิทธิบัตรที่เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ผ่านการพิจารณาของ NIA ดำเนินการจดสิทธิบัตร วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท (ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ) ในการดำเนินการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยทั้งในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้าหรือบริการ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ตลอดจนเป็นเกราะป้องกันการถูกเลียนแบบจากบริษัทคู่แข่ง เช่น โซ่ขับเฟืองล้อรถจักรยานยนต์ที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการแบบใหม่ ระบบการจัดการแปรรูปขยะอินทรีย์ในชุมชน เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยง และเครื่องสแกนใบหน้าแบบสามมิติโดยมีความแม่นยำสูง เป็นต้น
ดร.กริชผกา กล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนในรูปแบบเงินทุนแล้ว NIA ยังมีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับองค์ความรู้และทักษะด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ครอบคลุมองค์ความรู้ด้าน IP ที่จำเป็นและมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ IP สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภมิศาสตร์ เป็นต้น ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ (Classroom) และออนไลน์ (IP Webinar) เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย และกิจกรรมส่งเสริมเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา “IP NextWork” ที่จะเสริมสร้างทั้งความรู้ กลยุทธ์ และการสร้างเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง ภายใต้ 3 คอนเซ็ปท์หลัก ได้แก่ Networking, Sharing และ Chat Space
สุดท้ายเป็นการสร้างความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในวงกว้าง ได้แก่ การเสริมสร้างความตระหนักด้านทรัพย์สินทางปัญญา การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา และนำร่องร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมการพัฒนาชุมชน และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตร สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านเกษตรจับมือกับกลุ่ม OTOP เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในโครงการ AgTech4OTOP
ทั้งวนี้เพื่อใช้ดึงเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้าเกษตรที่โดดเด่น สร้างสรรค์ และสร้างแผนการตลาดร่วมกันบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ทำให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเข้าสู่ช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ (New Economic Warrior: NEW) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหน่วยงานที่ดูแลและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำให้กับกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการของ NIA ให้เข้าใจกระบวนการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
สำหรับในปี 2564 นี้ ยังมีสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการขอรับการสนับสนุนทุนด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจากสัดส่วนธุรกิจนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวแปรให้มีผู้เข้าถึงการจดสิทธิบัตรมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในธุรกิจนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่อันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อโควิด – 19 รวมถึงธุรกิจนวัตกรรมเกษตร และธุรกิจนวัตกรรมอาหาร เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เริ่มเล็งเห็นถึงอนาคตของอาหาร บริการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการเกิดขึ้นของกระแสผู้บริโภคในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นยังมั่นใจว่าจากศักยภาพด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งจะช่วยปูทางให้การเข้าถึงการจดสิทธิบัตรมีความง่ายยิ่งขึ้น