NIA จับมือพันธมิตร จัด15 สตาร์ทอัพเกษตรฝีมือดี มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ ดันเกษตรกรสู่อาชีพเกษตรแม่นยำ

  •  
  •  
  •  
  •  

NIA จับมือหน่วยงานพันธมิตร ส่ง 15 สตาร์ทอัพเกษตรฝีมือดีล็อตแรกพร้อมจับคู่เกษตรกร หวังเชื่อมโยงให้เข้าถึงในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับภาคการเกษตร  สู่การทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนสร้างช่องทางตลาดใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

     สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับสตาร์ทอด้านการเกษตรสู่การเป็นเกษตรกรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ AgTechConnext โดยคัดเลือก 15 สตาร์ทอัพการเกษตรทีมีเทคโนโลยีพร้อมใช้ นำเสนอกับกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมเปิดรับและเรียนรู้การทำเกษตรด้วยรูปใหม่ที่แม่นยำ สามารถควบคุมกระบวนการและปัจจัยการผลิตด้วยเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิต ลดแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มช่องทางตลาดแบบใหม่ ส่งผลให้ทำการเกษตรแล้วมีมีรายได้เพิ่มขึ้นและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน พบกับการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเกษตรไทยทางออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ AgTechConnext วันที่ 8 และ 9 มิถุนายน 2564 นี้

                                              ดร.กริชผกา  บุญเฟื่อง

      ดร.กริชผกา  บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากการสำรวจระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในประเทศไทย (AgTech white paper) หนึ่งในข้อที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญและยังเป็นช่องว่างสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech Startup) คือเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทั้งจากการรับรู้และความไม่เข้าใจถึงเทคโนโลยีหรือบริการรวมทั้งยังขาดการเชื่อมโยงให้รู้จักผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพเนื่องจากเกษตรบางส่วนยังมีความกังวลถึงความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยีความรู้และทักษะในการใช้งานประกอบกับแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น จึงต้องมีการเร่งสร้างเพื่อให้เกิดสังคมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเข้าสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในภาพการเกษตรของไทยและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น แพลตฟอร์ม AgTechConnext จึงเป็นสะพานเชื่อมให้กับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเป็นช่องทางให้กับกลุ่มเกษตรกรได้รับรู้ รวมทั้งโอกาสนำไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากสตาร์ทอัพการเกษตรของไทยเพิ่มกระจายในวงกว้างขึ้น

      ทั้งนี้ 15 สตาร์ทอัพด้านการเกษตรลอตแรกที่ผ่านการคัดเลือกที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน ที่มีสินค้าหรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์มด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์ และการควบคุมด้ายเทคโนโลยีที่แม่นยำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่จะช่วยยืดอายุสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น และระบบตลาดที่จะส่งสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ โดยขอเริ่มด้วยสตาร์ทอัพรายแรก น้ำเชื้อว่องไว นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการติดสัตว์สำหรับวัวเนื้อ และวัวนมร่วมกับระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลาและน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศได้ตามความต้องการและแม่นยำสูง ในอีกกลุ่มของกลุ่มประมง สตาร์ทอัพ อัลจีบาพัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ (ลูกปลาไข่ปลาลูกกุ้งพีลูกกุ้งก้ามกรามลูกปู) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและมีหลักฐานการนับ กลุ่มประมงที่เพาะพันธ์ลูกสัตว์น้ำ ห้ามพลาดสำหรับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น สำหรับอีกรายคือ อควาบิซเข้าร่วมพัฒนาตั้งแต่การผลิตสัตว์น้ำจากฟาร์มของเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประมงที่เหลือจากการขายสดแล้ว มาเข้ากระบวนการแปรรูป แล้วนำออกไปจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์

     นอกจากนี้มีอีกสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อนำมาผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกจากแมลง ที่เป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ เดอะบริคเก็ตนำเสนอการระบบการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งด้วยการควบคุมอย่างแม่นยำด้วยไอโอที จะได้ผลผลิตที่ชัดเจนและตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ตอบโจทย์การผลิตภายใต้ห่วงโซ่ของอาหารในอนาคต

     สำหรับในกลุ่มการปลูกผัก พืชไร่ พืชสวน มีหลากหลายสตาร์ทอัพ ที่จะนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ปัญหาที่ท้าทายสำหรับด้านการเกษตร สตาร์ทอัพฝีมือดีอย่าง รีคัลท์ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมที่จะมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ ทำให้การวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ พร้อมต่อยอดรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อนำมาส่งต่อให้กับร้านอาหารและโมเดิร์นเทรด อีกรายคือ โกรว์เด่ฟาร์มมิ่งมีโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูง รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ด้วยราคาเข้าถึงได้พร้อมรับซื้อผลผลิต ที่มีขยายผลการนำไปใช้ปลูกกัญชงกัญชาที่กำลังได้รับความสนใจสูงในช่วงนี้ด้วยและสำหรับกลุ่มปลูกพืชในโรงเรือนที่ต้องการเครื่องจ่ายสารละลายแบบInline injection ที่คุณภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ พร้อมด้วยระบบโรงเรือน ที่มีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำด้วยฝีมือสตาร์ทอัพไทยอย่าง เอเวอร์โกลรวมถึงอีกสตาร์ทอัพที่ใช้พื้นฐานความรู้ของไอโอที มาต่อยอดระบบสมาร์ทฟาร์มเพื่อให้เกษตรกรสามาถจัดการควบคุมดูเเลผลผลิตทางการเกษตรผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา ของ ฟาร์มไทยแลนด์

     อีกรายที่ขอนำร่องเฉพาะกับกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังในเขตแปดริ้ว ได้แก่ ไบโอแมทลิ้งค์ที่มีระบบบริหารการดูแลการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรสมาชิกและจับคู่ตลาดกับเกษตกรมันสำปะหลังแบบมีประกันราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม และมาเจาะลึกกับสิ่งที่เกษตรกรเริ่มรู้จักอย่าง โดรนเพื่อการเกษตรเพื่อฉีดพ่น ซึ่ง โนวี่ โดรนเป็นตัวช่วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ลดเวลา เพิ่มผลผลิต คืนทุนไว เพิ่มรายได้ ลดการสัมผัสสารเคมี รวมถึงมีบริการอีกอย่างหลากหลายด้วยการบินสำรวจ และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกับ เก้าไร่เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการฉีดพ่นสารอารักขาพืช โดยการจองบริการโดรนผ่านแอพพลิเคชั่น มีระบบบันทึกข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า

      เมื่อผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ผลผลิตมาอย่างดี แต่การเพิ่มอายุในการเก็บรักษาก่อนส่งมือผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างสูงสำหรับประเทศไทยที่มีสินค้าเกษตรเมืองร้อนเปลือกบาง มีการเน่าเสียได้ง่าย และเปลี่ยนสีเมื่อปอกเปลือกแล้ว ดังนั้น อีเด็น อะกริเทคสารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง จึงมาตอบโจทย์ได้อย่างดี ดังนั้นโรงรวบรวมและตัดแต่งบรรจุ จะมีโจทย์พัฒนาร่วมกันที่จะยืดอายุการเก็บรักษาได้อย่างเหมาะสมห้ามพลาด

      จัดเต็มด่านสุดท้ายที่จะเป็นแพลตฟอร์มตลาดในการส่งสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ร้านค้า โรงงานผลิต ได้แก่ เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์ พัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน กับภาระกิจช่วยสร้างยอดขาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมีระบบฟาร์มโตะมีระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์ และ แคสปี้ เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ที่มีสินค้ามากมายให้คุณเลือกที่มุ่งเน้นการคัดสรรเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์

      พลาดไม่ได้จริงๆงานนี้ เกษตรกรทุกกลุ่ม ทุกประเภท ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยการทำเกษตรให้ง่ายขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน ทุ่นแรง ขอเชิญสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://forms.gle/ncRXtL1DA9Cob3mKA

       ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณทินวัฒน์ ศรีทัดจันทา (กอล์ฟ)  โทรศัพท์ 02-017 5555 ต่อ 552- มือถือ 098-257 0888- อีเมล Thinnawat.s@nia.or.th