“มอ.-ซีพีเอฟ”ร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรม-อาหารครบวงจร

  •  
  •  
  •  
  •  
ม.สงขลานครินทร์ จับ ซีพีเอฟ ลงนาม MOU ว่าด้วย  “โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร”  มุ่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจภาคเกษตร มั่นใจว่าทุกคนที่ผ่านโครงการนี้จะมีความพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงาน ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรได้
       วันที่12 มีนาคม 2564  นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนาม “โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร” ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กับะ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจภาคเกษตร (Young  Agribusiness Entrepreneurs) โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มอ.  และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นผู้ลงนาม  พร้อมด้วย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ กรรมการสภา มอ. นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ ร่วมด้วย ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ ถ.รัชดาภิเษก
       ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตคุณภาพของภาคเกษตร และมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อยกระดับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้นักศึกษามาโดยตลอด ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลกอย่างซีพีเอฟ ได้ร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัย ส่งทั้งบุคลากรของบริษัทเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน ตลอดจนมีสถานที่จริงให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ได้จริงและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก  
      “โครงการความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย ด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และซีพีเอฟ เป็นการยกระดับการศึกษาของไทยโดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจริง ประสบการณ์จริงของภาคธุรกิจ มาถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนและการลงมือปฏิบัติของนักศึกษา มั่นใจว่าทุกคนที่ผ่านโครงการนี้จะมีความพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรได้”  ผศ.ดร.นิวัติกล่าว
    การลงนามครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้หลักช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพเยาวชน เน้นการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญา ในการสร้างฐานทางเศรษฐกิจ  โดยบูรณาการความรู้เชิงปฏิบัติ ซึ่งความร่วมมือกับซีพีเอฟ เป็นก้าวที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ตอกย้ำจุดที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นดำเนินมาตลอดคือ เรื่อง food security job security และ health security ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าและเข้มแข็ง
     ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีห่วงโซ่การผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ Feed-Farm-Food ไปจนถึง Retail โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” และมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย
     ล่าสุด ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งในด้านเกษตรครบวงจรเช่นเดียวกันอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในการร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงเกษตร ด้านการวิจัยพัฒนาในทุกส่วนงานของธุรกิจเกษตรครบวงจร ทั้ง Feed- Farm และ Food ครอบคลุมทั้งสัตว์บกและสัตวน้ำ ตลอดจนพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะการเป็นเจ้าของกิจการด้านการเกษตร หรือ Young Agribusiness Entrepreneurs ทั้งนี้เพื่อมุ่งสร้างเยาวชนภาคเกษตรตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และการบ่มเพาะความพร้อมในการเป็นเจ้าของกิจการภาคเกษตรของเยาวชน
       “ซีพีเอฟ เป็น Good Corporate Citizen ดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญา 3 ประโยชน์ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เรานำประสบการณ์จริง ความเชี่ยวชาญจริง มาถ่ายทอดสู่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสายทีสนใจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เพื่อประโยชน์ในการร่วมพัฒนาการศึกษาและสร้างเยาวชนคุณภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเกษตรให้แก่ประเทศของเรา” นายประสิทธิ์กล่าว  

       โครงการดังกล่าวมีการออกแบบกรอบการทำงานและจัดตั้งคณะทำงาน หรือ Work Stream อย่างเป็นระบบใน 3 ด้าน คือ1.) ด้านการพัฒนาหลักสูตร โดยออกแบบหลักสูตรรูปแบบใหม่ชื่อ Young Agri-business Entrepreneurs ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้จากผู้ชำนาญการในแต่ละด้านของซีพีเอฟ 2.) ด้านการพัฒนาการวิจัย โดยต่อยอดจากการวิจัย จัดทำโครงการต่อเนื่องในด้านอาหารและอาหารสัตว์ เช่น โครงการไก่เบตงครบวงจร แพะเนื้อ แพะนม ข้าวโพด ทุเรียน มังคุด และกาแฟ เป็นต้น และ 3.) ด้านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ CPF in your Area ที่นำโมเดลธุรกิจห้าดาวให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และ การจัด Alumni Panelist เพื่อนำผู้บริหารซีพีเอฟที่เป็นศิษย์เก่าร่วมให้ความรู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ตลอดจน การจัดวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อต่างๆที่เป็นความเชี่ยวชาญของซีพีเอฟ เช่น ด้านเทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรม ไอที และ ด้านธุรกิจ.