กรมชลฯเดินหน้าอัพเกรดโดรน “ธารทิพย์ 01-33” ให้ขึ้นลงทางดิ่ง-เพิ่มระบบการทำงานแบบ PPK ไว้หนุนภารกิจชลประทาน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน เผยความก้าวหน้า ในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ “ธารทิพย์ 01-33” เครื่องมือสำรวจบินถ่ายภาพ และผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อการชลประทานที่พัฒนาขึ้นมาเอง ล่าสุดมีแผนที่ภาพถ่ายด้วยระบบการขึ้นลงทางดิ่ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่จำกัด พร้อมเพิ่มระบบการทำงานแบบ PPK  ทำให้มีความละเอียดถูกต้องเชิงตำแหน่งยิ่งขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจงานชลประทาน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างสูงสุด

  นางจันทรา งาเนียม ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเริ่มต้นพัฒนา อากาศยานไร้คนขับ “ธารทิพย์ 01-33” ขึ้นใช้งานเอง เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือสำรวจบินถ่ายภาพ และผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อการชลประทาน นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานแผนที่สากล ASPRS 2014 สามารถใช้สนับสนุนภารกิจงานชลประทานได้หลายด้าน

    อย่างไรก็ตามในอนาคต กรมชลประทานจะมีแผนที่ภาพถ่ายที่พัฒนาจากอากาศยานไร้คนขับ “ธารทิพย์ 01-33” ด้วยระบบการขึ้นลงทางดิ่ง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่จำกัด จากเดิมที่ใช้ระบบการขึ้นและลงจอดแบบ Semi auto โดยใช้นักบินควบคุมการนำอากาศยานขึ้นและมีผู้ช่วยนักบินในการโยนอากาศยานขึ้น (Hand launch) และลงจอดด้วยการใช้อกกระแทก (Bentleylanding)

     นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มระบบการทำงานแบบ PPK (Post-Processing Kinematic) ทำให้มีความละเอียดถูกต้องเชิงตำแหน่งยิ่งขึ้น  รวมไปถึงมีแนวทางการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่เพื่อให้อากาศยานสามารถปฏิบัติงานบินสำรวจถ่ายภาพในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการสนับสนุนภารกิจงานชลประทาน ในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

      ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้นำอากาศยานไร้คนขับ “ธารทิพย์ 01-33” มาใช้ประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ 1.บินสำรวจถ่ายภาพติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและสำรวจความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ 2. บินสำรวจถ่ายภาพบริเวณพื้นที่โครงการชลประทานต่าง ๆ ที่เตรียมเปิดโครงการงานก่อสร้าง 3. บินสำรวจถ่ายภาพเพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยทรัพย์สินให้แก่ราษฎร 4. บินสำรวจถ่ายภาพเพื่อนำข้อมูลสำรวจสร้างแบบจำลองสำหรับวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ