หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อโรค ของ มก.ได้รับรางวัล ผลงานวิจัยฯเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่

  •  
  •  
  •  
  •  

          ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ (ขวา) รับมอบโล่จาก ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์

สุดยอดผลงานเด่น …. หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อโรค ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับรางวัล ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่ ( New Normal) และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19 จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

     วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ารับโล่รางวัล ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่ ( New Normal) และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19 จาก ศ. (พิเศษ) ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2563 แผนยุทธศาสตร์กระทรวง อว.      ปี 2564 และพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะ วิกฤติ Covid-19

     กระทรวง อว. ได้คัดเลือกผลงานเด่นจากหน่วยงานในสังกัด อว. จำนวน 11 ผลงาน ที่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะวิกฤติขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรและหน่วยงานในสังกัด อว.ที่ร่วมระดม     สมองในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และทำงานกันอย่างแข็งขันอันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤติโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563

    สำหรับผลงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล คือ ผลงาน “ หุ่นยนต์โรยละอองย่าฆ่าเชื้อโรค COVID-19  ” ผู้พัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม ได้แก่ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อโรค COVID-19 เกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้รวดเร็ว มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ปฏิบัติงาน 1 คน ให้คุณภาพการปฏิบัติงานที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวเหมาะสําหรับพื้นที่สาธารณะภายในและ บริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ทางเดิน ห้องโถง สํานักงาน พื้นที่ บริเวณนั่งรอ ศูนย์อาหาร โดยเหมาะสมกับการฉีดพ่นที่เป็นกิจวัตร ดําเนินการได้โดยเจ้าของพื้นที่ ใช้รีโมทควบคุมระยะไกล สามารถควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดไร้สายดูภาพผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือจอภาพขนาดเล็กได้

      ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรค และไม่จำเป็นต้องสวมชุด PPE  หุ่นยนต์ตัวนี้มีขนาดเล็กพอที่จะเข้าไปในลิฟท์ได้ สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกในอาคารสูง โรงพยาบาล โรงแรม  สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า หรือ ในสถานที่ที่มีการติดเชื้อหรือสถานกักกันผู้ติดเชื้อ ได้สะดวก โดยนอกจากฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคแล้ว ก็ยังสามารถถูพื้นทำความสะอาดพื้นได้ด้วย โดยเฉพาะในสถานที่ติดเชื้อที่แม่บ้านทำความสะอาดมักไม่อยากรับงาน ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถทดแทนแรงงานคนถูพื้นทำความสะอาดได้ถึง 3 คน

    ดร.จงรัก  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศ จึงได้ผลักดัน อาจารย์/นักวิจัย ให้สร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยหวังให้ประเทศไทยกลับมาดำรงความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีนวัตกรรมจำนวนมากที่ได้ถูกสร้างสรรค์และนำไปใช้งานจริง หุ่นยนต์โรยละอองฆ่าเชื้อเป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งพัฒนามาจากหุ่นยนต์การเกษตร และได้มีการนำไปใช้งานจริงในหน่วยงานต่างๆ อาทิ

-ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรณี COVID-19 กองทัพเรือ พื้นที่สัตหีบ(ส่วนหน้า) จ.ชลบุรี
-โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จ.ชลบุรี
-ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล
-ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์