ทึ่ง!!ถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมฯปลากัดป่ามหาชัยสำเร็จ …เป็นครั้งแรกของโลก

  •  
  •  
  •  
  •  
โครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนม ไมโทคอนเดรียปลากัดป่ามหาชัย เป็นครั้งแรกของโลก โดยจีโนมไมโทคอนเดรียมีขนาด 16,980 คู่เบส เผยพบข้อมูลลำคัญบนจีโนมเพื่อใช้สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม และการแพร่กระจายของปลากัดป่า ที่อาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย
   สำหรับโครงการทรัพยากรชีวภาพปลากัดแห่งชาติ (National Betta Bioresource Project) ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สมาคมปลากัด ร่วมกับบริษัทวิชูโอ ไบโอเมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมไมโทคอนเดรียที่สมบูรณ์ของปลากัดป่ามหาชัย ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยจีโนมไมโทคอนเดรียมีขนาด 16,980 คู่เบส และพบข้อมูลลำคัญบนจีโนมเพื่อใช้สนับสนุนจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม และการแพร่กระจายของปลากัดป่า ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย
.
        รศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานโครงการฯ พร้อมคณะทีมวิจัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ปลากัดป่ามหาชัยเป็นปลากัดที่พบในประเทศไทยเท่านั้น มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยบริเวณป่าจาก แถบจังหวัดสมุทรสาคร และอาจพบได้ในจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนบางส่วนของพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการคุกคามและทำลายแหล่งที่อยู่ของปลากัดป่ามหาชัยเป็นอย่างมาก ทำให้ปลากัดชนิดดังกล่าวเสี่ยงสูญพันธุ์
.
       ข้อมูลจีโนมดังกล่าวจึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อต่อยอดการพัฒนาวิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์และเข้าใจกลไกวิวัฒนาการและจุดกำเนิดของปลากัดป่ามหาชัย ซึ่งส่งเสริมงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของปลากัดป่ามหาชัย นอกจากนี้ทาง วช. และ สมาคมปลากัดกำลังพยายามพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงปลากัดป่ามหาชัยเพื่อพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต และทดแทนการจับปลากัดป่ามหาชัยจากธรรมชาติ ดังนั้นข้อมูลจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญยิ่ง
 
       ทั้งนี้ ข้อมูลจีโนมไมโทคอนเดรียของปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร Mitochondrial DNA Part B: Resources เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2563 นับเป็นจีโนมที่ 5 ของปลากัดป่า ต่อจาก ปลากัดอมไข่ภาคใต้ (B. simplex), ปลากัดภูเขาภาคใต้ (B. apollon), ปลากัดอมไข่น้ำแดงหรือป่าพรุ (B. pi) และ ปลากัดป่าภาคกลาง (B. splendens) ซึ่งได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมโดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์