กระทรวงเกษตรฯ ดึงผลงานวิจัย สวก.ลงจากหิ้ง จับมือ 13 บริษัทต่อยอดไปทำเพื่อการค้า

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ดึงผลงานวิจัย สวก.ลงจากหิ้ง จับ 13 บริษัท ต่อยอดลงทุนธุรกิจ โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีและผลงานวิจัยเด่นด้านนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ New S-Curve ของประเทศ มุ่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหาร สร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตไม่น้อยกว่า 570 ล้านบาท

     นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน และมีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการวิจัยการเกษตร บุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร และข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร ดังนั้น
การส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบาย สาธารณะและเชิงพาณิชย์ จึงถือเป็นอีกงานหนึ่งที่สำคัญของ สวก.

      ด้าน นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 24 มกราคม ที่จะถึงนี้ สวก. ได้เตรียมจัดลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย ระหว่าง สวก. และผู้ประกอบการ จำนวน 13 บริษัท โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเรื่องอาหารและอาหารเสริม 10 โครงการ ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ 2 โครงการและผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องสำอาง 1 โครงการ ในงานสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องอาหาร “Taste of Innovation : นวัตกรรมอาหาร เพื่อการพัฒนา สู่อนาคต” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (new s-curve) คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และเป็นจุดเริ่มในการผลักดันให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจของภาคเอกชน ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งสามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ไม่น้อยกว่า 570 ล้านบาท

 

        นอกจากนี้ ในงานดังกล่าวจะนำเสนอเผยแพร่เทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกลุ่มเรื่อง “อาหาร” จำนวน 44 โครงการ ประกอบด้วยภาคนำเสนอผลงานพร้อมใช้ (pitching) 14 โครงการ โดยมีผลงานไฮไลท์ เช่น 1) ผลิตภัณฑ์อาหารเหลวทางการแพทย์ 2) ผลิตภัณฑ์โปรตีนคล้ายเนื้อ 3) ผลิตภัณฑ์อาหารเจลถั่วชีวภาพ 4) ผลิตภัณฑ์ผักอัดเม็ดเสริมโพรไบโอติกส์ และ 5) ผลิตภัณฑ์ชาลำไยสด ภาคนิทรรศการ 25 โครงการ ซึ่งพร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สู่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนนำไปขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์  อีกทั้ง มีบูธของภาคเอกชนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวก. มานำเสนอผลิตภัณฑ์ 5 โครงการ ทั้งนี้ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารเสริม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ไม่น้อยกว่า 200 ท่าน เข้าร่วมงาน ซึ่งคาดว่าการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดและเชื่อมเครือข่ายกับภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศ