กระทรวงเกษตรฯ นำทัพหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อน “เกษตรอัจฉริยะ” พร้อมระดมสมองครั้งแรกในไทย ขนเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในแปลงเรียนรู้ 6 พืช จัดการฐานข้อมูล Big Data มุ่งวาง Roadmap เกษตรอัจฉริยะ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคงและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง นั้น ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เน้นในด้านเกษตรสมัยที่เน้นด้านเทคโนโลยีการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดต้องการ ด้วยการนำแนวคิด “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ “SMART AGRICULTURE” มาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับสังคมเกษตรกรรมดั่งเดิม ไปสู่สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่หรือเกษตรกรรม 4.0 ด้วยการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ในปี 2562 ทุกหน่วยงานที่บลูรณาการ ได้มีความเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะโดยดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 3 ด้าน ในปี 2562 ประกอบ 1. การจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิต ใน 6 พืช ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด และมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ พร้อมทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำ Big Data ด้านเกษตรอัจฉริยะสำหรับการประมวลผล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ และช่วยกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต
2. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยขับเคลื่อนการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในกระบวนการผลิต เชื่อมโยงเข้าสู่การจัดทำ Big Data ทางการเกษตร และประมวลผล ณ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเกษตร (War room) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต และประสานความร่วมมือจากนักวิชาการด้านต่าง ๆ ตลอดจนนักคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบและการจัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องภายในแปลงเรียนรู้จากระบบเทคโนโลยี IoT ที่ติดตั้งอยู่ในระบบเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการบันทึกข้อมูลโดยนักวิจัยให้เชื่อมโยงเข้าสู่การจัดทำ Big Data ทางการเกษตร เพื่อจัดทำ index library สำหรับเป็นดัชนีฐานข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะต่อไป
โดยในปี 2562 มีแผนดำเนินการระยะเร่งรัด (Quick Win) ด้าน Big Data 3 แผนงาน ดังนี้ แผนงานแรก : พัฒนาข้อมูลปริมาณผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูก แบบ near real time ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณและพื้นที่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด แผนงานที่สอง : พัฒนาข้อมูลโรคพืชและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการตรวจสอบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแผนงานที่สาม : พัฒนา IoT Platform เชื่อมโยงข้อมูลจากการตรวจวัดของเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์วัดธาตุอาหารพืชในดินและในน้ำ เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ เซนเซอร์ดักจับแมลง เป็นต้น ในโรงเรือนปลูกมะเขือเทศ มายังจอแสดงผลแบบ real time เพื่อใช้ในการบริหารจัดการผลิตพืชอย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ
และ 3. การจัดทำแผนแม่บท หรือ Roadmap ขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
สำหรับแนวคิดการทำเกษตรอัจฉริยะ คือ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) โดยเป็นการทำเกษตรที่มีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ (Productivity) โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การใช้ Agri-Map เพื่อตรวจสอบคุณภาพดิน การใช้เครื่องจักรจัดการแปลง การควบคุมปริมาณแสงและอุณหภูมิ การกำหนดปริมาณสารอาหารและน้ำที่เหมาะสม การใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อการบริหารจัดการแปลงและโรงเรือน การกำจัดศัตรูพืช โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน
รวมทั้งการวางแผนและตัดสินใจทำการเกษตรบนฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง โดยการพัฒนา Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการผลิต ซึ่งผลลัพธ์ของการทำเกษตรอัจฉริยะนั้นเป็นการช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี น้ำ และการใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มปริมาณคุณภาพผลผลิตและรายได้เกษตรกร สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ เพื่อสนับสนุนด้านการตลาด และช่วยในการวางแผนการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำหนดตลาดล่วงหน้า อันจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรได้
“กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยนอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะผ่านการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดทำแปลงเรียนรู้แล้ว ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เกษตรกร และคนรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Officers, Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดวิทยาการสมัยใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมในรูปแบบแปลงใหญ่ (Mega Farm) โดยเฉพาะการทำวิสาหกิจแปลงใหญ่ มีความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ได้รับการทดสอบจากแปลงเรียนรู้ที่นำไปใช้ จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสังคมเกษตรกรรมของไทยในระยะต่อไป ” นายกฤษฎา กล่าว
ด้าน ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ในวันที่ 24 เมษายน 2562 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย” “บทบาทของ GISTDA กับการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย” “การเกษตรอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น” “IoT และเซนเซอร์ทางการเกษตร” เป็นต้น
สำหรับภาคบ่ายมีการเสวนาเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย ระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2562
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนา Big Data รวมถึงการระดมความคิดจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนายกร่าง Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ตลอดจนยังมีนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะโดยหน่วยงาน บริษัทเอกชน และผู้ประกอบการ Start up ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system เป็นต้น