สร้างเขื่อน (ต้องไม่) สะเทือนถึงดวงดาว

  •  
  •  
  •  
  •  

ทันทีที่มีประเด็นเกี่ยวกับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือสร้างเขื่อน สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความคิดเห็นและแรงต้านจากหลายฝ่าย เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะโครงการใหญ่ยักษ์แบบนี้ย่อมมีผลกระทบ

แต่…ท่ามกลางความห่วงใยและการต่อต้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดประสงค์ของการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนแต่ละแห่ง หลักใหญ่ใจความคือการพัฒนาเพื่อประชาชนในภาคส่วนต่างๆ อาทิ การเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, การผลิตไฟฟ้า, การกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค, เพื่อบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

ทว่าเมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบ กรมชลประทานซึ่งดูแลรับผิดชอบโครงการด้านน้ำมีมาตรการเยียวยาผลกระทบอย่างจริงจัง

นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญ กรมชลประทาน ยกตัวอย่างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่ากรมชลประทานได้ทำการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2555 ระยะเวลา 15 ปี งบประมาณ 300 ล้านบาท ประกอบด้วย 25 แผนงาน โดยมี 15 หน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ

[adrotate banner=”3″]

สำหรับแผนการดำเนินงานของกรมชลประทาน ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมอาชีพ มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 9 หมู่บ้านในพื้นที่รอบอ่าง ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้โอนงบประมาณส่วนหนึ่งให้แก่กรมพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการแผนพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

“กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โดยได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบรอบอ่างเก็บน้ำ 9 หมู่บ้าน ส่งเสริมอาชีพให้เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน เช่น ปลูกมะนาว แปรรูปเพาะเห็ด การประมง เป็นต้น และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกันเอง ทำให้ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีความสุขที่ยั่งยืน และที่สำคัญยังสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย”

ด้าน นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นก็คล้ายการที่เราตัดถนน จะมีผลกระทบ เจอบ้านคน กระทบอาชีพในช่วงก่อสร้าง พอถนนเสร็จแล้วทุกคนก็จะลืมไปแล้ว อยากบอกว่าทุกครั้งที่ทำโครงการมีทั้งดีและเสีย ถ้ามันดีและช่วยอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนได้มากก็ดำเนินการ แต่ส่วนที่เสียไม่ใช่ว่าไม่ดูแล ส่วนที่เสียต้องแก้ไข ปรับปรุง ถามความเห็นจากคนที่ได้รับผลกระทบ อีกส่วนเราต้องฟังจากหน่วยงานเฉพาะ เราต้องเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาพูดคุย ยืนยันว่าเราไม่ละเลย”

          การรับฟัง แก้ไข จะนำไปสู่การเยียวยา ซึ่งกรมชลประทานยืนยันว่าส่วนมากได้รับการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล