ได้แล้วสุดยอดนวัตกรรมพลิกโฉมฟาร์มเกษตรไทยแห่งอนาคต

  •  
  •  
  •  
  •  

 ได้แล้วสุดยอดไอเดียนวัตกรรมพลิกโฉมฟาร์มเกษตรของไทยในอนาคตปี ค.ศ. 2030 หวังเป็นต้นแบบช่วยแก้ปัญหาภาคการเกษตรแบบเดิม ให้เกิดธุรกิจเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยเฉพาะสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีของไทย หลังพบว่า คนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น

       ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ(NIA) กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนา “New Farming Model 2030 – What is in? What is out?” ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center จัดขึ้น ณ Ananda Campus (ชั้น11) FYI Center เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ว่า ปัจจุบันภาคเกษตรไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการนำนวัตกรรมการเกษตรมาใช้มากขึ้น เกิดภาพลักษณ์ของการเกษตรยุคใหม่ ที่ช่วยแก้ปัญหาของการทำเกษตรแบบเดิม เกิดธุรกิจเกษตรรูปแบบใหม่ ๆ การเกษตรถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและคนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดูได้จากจำนวนนักเรียนที่สนใจเรียนด้านการเกษตรมากขึ้น และเกิดสตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆ ในธุรกิจเกษตรนับ 1,000 บริษัท

         ด้วยเหตุนี้เอ็นไอเอ ได้เห็นความสำคัญของการยกระดับการเกษตรในประเทศไทย จึงได้จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center (ABC Center) ขึ้น โดยมีพันธกิจหลักคือการเร่งสร้างเสริมความสามารถแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจเกษตร ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน  และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว

         ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร  ได้ดำเนินโครงการ แสวงหาและวิเคราะห์ปัญหาด้านการเกษตรเพื่อจุดประกายไอเดียแนวคิดให้กับกลุ่มนวัตกรเกษตรรุ่นใหม่ หรือ  AgSeed Episode 1 : New Farming Model 2030 โดยได้เชิญชวนผู้สนใจในภาคการเกษตรทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup ที่มีความสนใจในธุรกิจการเกษตร นิสิต นักศึกษา บุคลากรในสถาบันการศึกษา นักคิดอิสระที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนโฉมการเกษตร บริษัทเอกชนที่มีความชำนาญและความรู้ในธุรกิจการเกษตร นักวิชาการที่มีพื้นฐานความรู้และชื่นชอบในธุรกิจการเกษตร รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในธุรกิจการเกษตร มาร่วมแข่งขันประกวดไอเดียแนวคิดนวัตกรรมโดยจินตนาการไปถึงระบบการเกษตรแบบใหม่ในปี 2030 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

          ทั้งนี้เพื่อหาสุดยอดไอเดียฟาร์มเกษตรยุคใหม่ และเข้าสู่โปรแกรมการสร้างและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรโดยเฉพาะ เน้นการพัฒนาบุคคลเพื่อเปิดมุมมองและสร้างไอเดียที่ทำได้จริง เตรียมพร้อมสู่การเป็นธุรกิจนวัตกรรมเกษตร ผ่านโปรแกรมต่อเนื่องของ ABC center เช่น FarmStarter FarmLab

[adrotate banner=”3″]

          ด้วยกระบวนการเช่นนี้ จะได้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ด้านเกษตร ไอเดียและการทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีแนวทางในการวางแผนการตลาด และการตกผลึกไอเดีย ที่ผ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและสามารถนำไปสร้างผลงานให้เกิดขึ้นจริงได้ มีแนวทางการเลือกช่องทางการตลาดให้เหมาะสมกับตนซึ่งนำไปสู่การสร้างผลงานให้เกิดขึ้นจริงพร้อมทั้งยังส่งผลให้เห็นถึงการวางแผนโครงการในอนาคต รวมถึงมีโอกาสเข้าถึงแหล่งให้คำปรึกษาและเงินทุนเพื่อนำไปสร้างผลงานให้เกิดขึ้นในอนาคต เตรียมพร้อมสู่การเป็นเกษตรกรสมัยใหม่เคียงคู่กับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

           สำหรับ 10 สุดยอดไอเดีย New Farming Model 2030 ที่มานำเสนอมาจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ เพราะไม่ว่าใครก็มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรของไทยได้ เป็นคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-45  ปี อาทิ กลุ่มนักพัฒนาในแวดวงเทคโนโลยี เสนอไอเดีย Farmbot ระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ใช้แขนกลเข้ามาช่วย และ Platform ครบวงจร

         ส่วน AgTech Startups มีไอเดีย Smart Farm ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการนำเทคโนโลยี VR มาช่วยฝึกความชำนาญในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดการสูญเสีย ยังมีนักออกแบบเสนอ การออกแบบพื้นที่การเกษตรเชิงท่องเที่ยวที่จะมาสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและโดดเด่นระดับโลก นักการตลาดเสนอเรื่อง Image processing มาควบคุมความอร่อยของผลไม้ และโดรนที่มาช่วยเก็บเกี่ยวผลไม้ได้อย่างแม่นยำ

         “ผลการประกวดรางวัลชนะเลิศสุดยอดไอเดีย New Farming Model 2030 ได้แก่ไอเดีย  Farmbot ระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ใช้แขนกลเข้ามาช่วย   ของนายกิตติศักดิ์ หมื่นสีดา  รางวัลรองชนะเลิศเป็นของ นางสาวปัญจรัตน์ กิตติจรูญวิทย์  เจ้าของไอเดีย Image processing มาควบคุมความอร่อยของผลไม้   นายเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข จากไอเดียการนำเทคโนโลยี VR มาช่วยฝึกความชำนาญในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดการสูญเสีย   และนางสาวนพรัตน์ พันธุ์พินิจ จากไอเดีย การจัดการข้อมูล Big Tree” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

          ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันพบว่า มีผู้สนใจต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้ดีกว่าเดิมเป็นจำนวนมาก  และเชื่อว่าไอเดียนวัตกรรมของภาคเกษตรไทยในปี 2030 จะจุดประกายให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรไทยที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือและอาวุธสำหรับนวัตกรเศรษฐกิจยุคใหม่ของภาคเกษตรไทยให้พร้อมรับมือโฉมหน้าโลกเกษตรในอนาคตอันใกล้ ทำให้โลกเกษตรไทยสมาร์ทมีนวัตกรรมได้ในธุรกิจเกษตรระดับโลก