เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 นายปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจุฬาฯ มีแผนปฎิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาฯ พ.ศ.2560-2564 โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง 30 % ภายใน 5 ปี ทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างความร่วมมือ สร้างนวัตกรรม งานวิจัยเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือ GC ในโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 สร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย 2.รองรับ 10อุตสาหกรรมของประเทศ ในกลุ่มเคมีชีวภาพ 3.สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลในการสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ด้านผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น และ4.การดำเนินการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนในการจัดทำงานวิจัย นวัตกรรมร่วมกันในแก้ไขปัญหาต่างๆ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ
นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการ Chula Zero Waste ดำเนินการเป็นปีที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาพบว่า ภายในโรงอาหารของจุฬาฯ ทั้ง 17 แห่ง มีการใช้พลาสติก โดยเฉพาะในส่วนของแก้วพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันดิบหรือแก๊สธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้า ประมาณ 170,000 ใบต่อเดือน ซึ่งแก้วพลาสติกดังกล่าวต้องใช้เวลากว่า 300 ปีในการย่อยสลายและเกิดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน ที่ผ่านมาทางจุฬาฯ ได้มีการใช้มาตรการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น หากจะใช้ถุงในพลาสติกต้องซื้อราคา 2 บาท ทำให้มีการใช้ลดน้อยลง ,มีการตั้งตู้น้ำในมหาวิทยาลัยและมีการแจกขวดน้ำ ให้ส่วนลด 5 บาท หากนำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่ม และมีการปรับปรุงป้ายให้ทรายเส้นทางขยะ และประเภทขยะ เป็นต้น
“โครงการ Chula Zero Waste เป็นความร่วมมือกับ GC ในการผลิตแก้วพลาสติกชีวภาพ จากอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดฯ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยจากการทดลอง พบว่า แก้วพลาสติกชีวภาพดังกล่าว สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ย่อยภายใน 180 วัน หรือประมาณ 4 เดือน และทุกคนสามารถนำไปฝังไว้ที่โคนต้นไม้ ไม่เกิน 12 เดือนก็สามารถย่อยสลายได้ และจากการย่อยสลายดังกล่าวไม่มีสารพิษตกค้างในดิน ดังนั้น ขณะนี้จุฬาฯ มีแผนที่จะรณรงค์ให้มีการใช้แก้วพลาสติกชีวภาพ โดยวันที่ 10 ก.ค.นี้ จุฬาฯ จะเริ่มใช้แก้วพลาสติกชีวภาพใน 7 โรงอาหาร ซึ่งคาดว่าจะลดการใช้แก้วพลาสติกประมาณ 60,000-70,000 ใบ และจะขยายผลภายใน 3 เดือนไปให้ครบ 17 โรงอาหาร เพื่อลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติก 170,000 ใบ”นายวรุณ กล่าว
ทั้งนี้ แก้วพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้มีการรีไซเคิลยากมาก และส่วนใหญ่ไปสู่หลุมฝังกลบ จึงเป็นที่มาของศูนย์ฯ ในการพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก อย่างไรก็ตาม นอกจากมีการใช้แก้วพลาสติกดังกล่าวแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการจัดการแยกขยะ เพื่อนำแก้วพลาสติกชีวภาพ ไปสู่ปุ๋ยหมัก เพราะการจะทำให้พลาสติกหมดไปนั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ แต่สามารถบริหารจัดการให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง ต้องลดการใช้ ใช้ซ้ำ กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหลังจากนี้ทางศูนย์ฯ มีแผนจะพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ เนื่องจาหลอดพลาสติกเป็นขยะอีกประเภทหนึ่งที่มีจำนวนมาก และทางที่ดีควรไม่ให้บริการหลอดพลาสติกในลักษณะให้เปล่าอย่างเช่นทุกวันนี้
“การลดขยะสามารถทำได้ทุกคนและเป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งทุกคนสามารถทำเท่าที่ทำได้ และควรแยกขยะให้ถูกถัง อีกทั้งทุกหน่วยงานควรร่วมด้วยช่วยกัน ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ต้องร่วมกันผลิตนวัตกรรม งานวิจัยเพื่อสร้างแก้วพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะสามารถลดขยะในประเทศไทยได้”นายวรุณ กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805263