ลุยอำนาจเจริญแก้จน จัดมหกรรมวิทย์สร้างอาชีพฯ เสริมแกร่งโอทอป

  •  
  •  
  •  
  •  

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ แก้ปัญหายากจน ส่งนวัตกรรมเสริมแกร่งโอทอป 10 จังหวัดจนที่สุดในประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้เกษตรกร พร้อมเดินสายจัดมหกรรมวิทย์สร้างอาชีพฯ ล่าสุดที่อำนาจเจริญ…

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะความยากจน รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ทิศทางการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ระดับฐานราก และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0

ทั้งนี้ได้ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และเครือข่ายความร่วมมือ อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมการพัฒนาชุมชน บริษัทประชารัฐรักสามัคคี และสถาบันการศึกษาต่างๆ ดำเนินโครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่ในสุดในประเทศ และโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เพื่อสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ และรายได้ให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นนวัตกรรมเพื่อชุมชนโดยมุ่งเน้นไปที่ 2 เรื่องหลัก 1.พัฒนาการเกษตร ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม และ 2.พัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยกระดับสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการ โอทอปใน 10 จังหวัดเป้าหมาย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เปิดตัวนำร่องไปแล้ว 2 จังหวัด ใน จ.น่าน และ จ.บุรีรัมย์ ภายใต้จัดกิจกรรม “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค” และครั้งที่ 3 ที่ จ.อำนาจเจริญ ระหว่างวันที่ 15–16 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้มีนายอภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

สำหรับกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วันของการจัดงาน แบ่งเป็น 2 ส่่วนส่วน 1.การเสวนาและบรรยายความรู้หัวข้อต่างๆ อาทิ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่เกษตรอัจฉริยะ, การยกระดับผู้ประกอบการ OTOP และการยกระดับการเกษตร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 2. การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ OTOP หลักสูตรต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือและเห็ดเผาะ, การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง, การฝึกปฎิบัติออกแบบบรรจุภัณฑ์, การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม, ความรู้พื้นฐานและเทคนิคการเตรียมสถานที่ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด อย. รวมถึงเรื่องการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้และการตรวจสอบความแก่ของทุเรียนที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในงานยังจะมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการOTOP และระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร” เพื่อร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรในท้องถิ่นได้นำใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพต่อไป

นอกจากนี้ยังจะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันการศึกษา และภาคีความร่วมมือต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการโอทอปและเกษตรกร เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป.

ที่มา : ไทยรัฐ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1310707