ก.เกษตรฯเดินหน้างานวิจัย ย้ำผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องมีคุณภาพ

  •  
  •  
  •  
  •  

“ลักษณ์” ชี้กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย ถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้ก้าวหน้าได้   ระบุปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรมีคุณภาพ แนะทางผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีตลาดรองรับตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0

         นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมวิชาการกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “เกษตรก้าวไกลด้วยนวัตกรรม สู่ตลาดนำการผลิต” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร จัดการประชุมวิชาการกรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2561 เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2560 ผลงานวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สำเร็จสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องยังได้นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จำนวนมาก รวมทั้งเป็นการเปิดเวทีให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานวิจัยในอนาคต

           “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพราะเชื่อมั่นว่างานวิจัยคือกลไกสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้ก้าวหน้าจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และจะก้าวต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการทำงานวิจัยจำเป็นต้องมีเป้าหมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตรด้านพืชที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องยกระดับคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีตลาดรองรับตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะพัฒนาเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายลักษณ์ กล่าว            

           ด้าน นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจในการทำการวิจัยและพัฒนาด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งมีกฎหมายในความรับผิดชอบที่ครอบคลุมปัจจัยการผลิต การนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืช และการคุ้มครองพันธุ์พืช จึงเป็นความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องที่อยากเห็นผลงานในลักษณะที่นักวิจัยจะต้องเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ที่มีความรอบรู้ โดยการศึกษาเพื่อสร้างโจทย์วิจัยพร้อมกระบวนการปฏิบัติงานวิจัย ซึ่งต้องมีเป้าหมายในการนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนการผลิตภาคการเกษตรสมัยใหม่ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมหรือชุมชนให้นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน และสามารถนำไปแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตพืชตลอดห่วงโซ่อาหาร ที่จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพได้

[adrotate banner=”3″]

          ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน 13 ผลงาน แบ่งออกเป็น 6 ประภท ได้แก่ งานวิจัยพื้นฐาน  งานวิจัยประยุกต์ งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ งานพัฒนางานวิจัย งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น และงานบริการวิชาการ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญด้านการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรด้านพืช จึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ประจำปี 2561 และเกษตรกรดีเด่นสาขาการผลิตพืชอินทรีย์ดีเด่น รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดีเด่นสาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี (GMP) และระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ด้วย