สศก.– มก.เปิดข้อมูล วิเคราะห์ดัชนีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศทั่วโลก พบไทยอยู่อันดับ 78 จาก 176 ประเทศ ขณะที่เมียนมาร์ – สปป.ลาว มีการพัฒนาก้าวกระโดดถึง 5 อันดับ ชี้ไทยจับมือ อาลีบาบา กร๊ป ลงยาม Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership ทำให้ผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอี- สินค้าเกษตรราคาถูกลง เข้าถึงตลาดมากขึ้น ถือเป็นยุคทองของสินค้าเกษตรไทย ชี้ชัดขนาดขายทุเรียนผ่านออนไลน์มีคนจองภายใน 1 นาที มีถึง 8 เหมื่นผล แนะรัฐต้องควบคุมเข้มงวดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรรวมกลุ่มกัน ดำเนินการตามมาตรฐานเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร ตามความต้องการของตลาด
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก.พร้อมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มก. เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มก. ลงนามเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในด้านวิชาการทางการเกษตร และร่วมกันสร้างผลงานทางวิชาการด้านการวิเคราะห์ วิจัยและการพยากรณ์ทางการเกษตรระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน นำไปสู่การวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรของไทยร่วมกัน ณ ห้องประชุม กำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 ตึก 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ในโอกาสนี้ ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สศก. พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ได้วิเคราะห์ด้วย ถึงผลกระทบตลาดดิจิทัลที่มีต่อภาคเกษตรซึ่งมีเนื้อระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศหรือการสื่อสารดิจิทัล มีบทบาทสำคัญมากขึ้น สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจการค้า เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก
[adrotate banner=”3″]
ไทยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศฯอันดับ 78 ของโลก ลาว-พม่ามาแรง
ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ได้รายงานสถิติเกี่ยวกับสถิติดัชนีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศต่างๆ 176 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศส่วนใหญ่มีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเมียนมาร์ และ สปป.ลาว มีระดับสูงขึ้นถึง 5 อันดับ อินโดนีเซีย สูงขึ้น 3 อันดับ สิงคโปร์ สูงขึ้น 2 อันดับ บรูไน และไทย สูงขึ้น 1 อันดับ ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชา มีระดับการพัฒนาเท่าเดิม ส่วนมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีระดับการพัฒนา ลดลง 1 อันดับ
ไทยจับมือ “อาลีบาบา”ทำให้ขายสินค้ามากขึ้น
จากกระแสความร่วมมือด้าน Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership ระหว่างไทยกับ อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba) ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจการเกษตร ภาพรวม พบว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย ธุรกิจ SMEs โรงงาน ผู้ผลิต สามารถนำเสนอสินค้าแปลกใหม่ โดยการขายผ่านระบบ online ได้มากขึ้น ผู้บริโภคจากประเทศไทย สามารถซื้อของได้ถูกลง สินค้าราคาถูกจากจีนจะถูกนำเข้ามา สินค้าราคาถูกจากไทยก็ส่งออกไป เกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับ e-commerce เป็นจำนวนมาก และจะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การขนส่งพัสดุ การสร้างคลังสินค้า และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นต้น
ธุรกิจออนไลน์ผงาด ห้างฯจ้างงานน้อยลง
ทั้งนี้สำหรับการจ้างพนักงานขาย พนักงานบริการ ตามห้างร้านต่าง ๆ จะมีปริมาณการจ้างงานลดลง กอปรผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง หรือผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้า ที่ดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม จะถูกทดแทนด้วยธุรกิจออนไลน์ พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่ผลิตสินค้าเหมือนกันจาก 2 ประเทศ เกิดการแข่งขันทางด้านต้นทุนและการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของรัฐบาล ควรให้ความสำคัญในการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทย จากการที่สินค้าของประเทศจีนถูกนำเข้ามาขายในประเทศไทย ดังนั้นควรส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ต้องเร่งร่วมมือกันพัฒนาและสร้างภูมิต้านทานให้ผู้ประกอบการและธุรกิจ SMEs ของไทย และเร่งสร้าง platform หลายๆด้านให้กับสินค้าไทย เพื่อทำให้สินค้าไทยมีราคาที่ดี รวมถึงป้องกันสินค้าจากจีนที่จะเข้ามาในประเทศจนมากเกินไป
โอกาสทองของผลไม้ไทยมาถึงแล้ว
ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตร เป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ที่มีความสามารถในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จะมีโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศไทย จีน และทั่วโลก กรณีสินค้าทุเรียน มีผู้สั่งซื้อ 80,000 ผล ภายในเวลา 1 นาที จึงส่งผลให้ปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยเพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถขายทุเรียนได้ในราคาที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการขายภายในประเทศ สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรายใหม่ผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อนั่นเอง นอกจากนี้ทุเรียนจะถูกผลิตจากประเทศไทย ส่งออก และมีการขนส่งโดยจีน ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามข้อตกลง FTA ของอาเซียน+1 ดังนั้นสำหรับผลไม้ของไทยจึงเป็นโอกาสทองไทย จะสามารถส่งออกได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น
แนะรัฐบาลเข้มงวดให้ควบคุมเรื่องคุณภาพ
ดังนั้น ภาครัฐจะต้องควบคุมและเข้มงวดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรรวมกลุ่มกัน ดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพ เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เสียหายง่าย ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพดีจนถึงผู้ซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคได้ รวมทั้งการศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมในด้านการผลิตสินค้าให้เกิดความสมดุล เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและในราคาที่เป็นธรรมด้วย