ก.เกษตรฯจับมือ3หน่วยงานวิจัยจัดการน้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  
กระทรวงเกษตรฯ จับมือ 3 หน่วยงาน ลงนาม MOU สนับสนุนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน และปัญหาน้ำท่วม ภายใต้“โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ หรือ NARK4.0”

         นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สามเสน ว่า การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของปริมาณน้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์และนำไปใช้ได้จริง
        การลงนามในครั้งนี้ยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การลงนามดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีชื่อว่า “โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ หรือ NARK4.0” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center; SWOC) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมชลประทาน

[adrotate banner=”3″]

            สำหรับโปรแกรม NARK4.0 สามารถคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และวางแผน ตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน โดยมีระดับความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80 และสามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์จำลองปริมาณการไหลในลำน้ำ การจัดสรรน้ำในระดับโครงการชลประทาน ไปจนถึงการคำนวณผลผลิตและรายได้ ซึ่งผลการพัฒนาแบบจำลองฯ สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยได้ร้อยละ 18.02 และสามารถรักษาปริมาณการใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยได้มากถึงร้อยละ 32.99 เป็นการสร้างความมั่นคงทางแวดวงคนเกษตรน้ำต่อสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กรมชลประทานมีเครื่องมือในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำและช่วยในการตัดสินใจในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้ารายฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนา แผนที่เกษตรที่เหมาะสมกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน” จากการพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ทั้งปริมาณฝนและน้ำชลประทานที่สามารถส่งถึงคลองส่งน้ำสายหลักและสายซอยจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ ร่วมกับพื้นที่ความเหมาะสมของการทำเกษตรกรรมการปลูกพืช (Agri-Map) ทำให้สามารถเสนอแนะแนวทางเลือกการทำเกษตรกรรมที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ และเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตรกรรมปลูกพืชให้แก่เกษตรกร

        “ความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนในหลายด้าน อาทิ 1. ด้านความต้องการน้ำ (Demand) จากการเสนอแนะแนวทางการทำเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งสามารถเป็นข้อมูลข่าวสารเชิงรุกให้แก่เกษตรกรในการวางแผนการทำเกษตรกรรม 2. ด้านปริมาณน้ำ (Supply) โดยการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้แก่กรมชลประทานใช้ในการคาดการณ์และวางแผนการตัดสินใจระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม และ 3. ด้านนโยบาย (Policy) รัฐบาลสามารถใช้ในการกำหนดมาตรการพัฒนาหรือส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีความผันผวนรายฤดูกาล เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำและความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว.