วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ชู 3 งานวิจัยปี 61 รับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0”

  •  
  •  
  •  
  •  

 

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิด 3 โปรเจกต์งานวิจัย ปี 2561 มุ่งเน้นประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยีเสริมความแข็งแกร่งของประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่

1) การเกษตร ผ่านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประชาชน ที่ชาวบ้านและเกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถดึงศักยภาพของปัจจัยแวดล้อมออกมาให้เป็นประโยชน์สูงสุด

2) บิ๊กดาต้า พัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแส บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์ (Cloud) สามารถประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

3) ผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีคุณภาพสากล พร้อมตีตลาดภายในประเทศ และต่อยอดส่งออกไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ยังได้เปิดรายชื่อ 5 กลุ่มงานวิจัยที่ประเทศต้องการ ได้แก่ 1) ด้านเกษตร 2) ด้านความมั่นคง 3) ด้านเทคโนโลยี 4) ด้านพลังงาน และ 5) ด้านท่องเที่ยว

รศ.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการสำรวจ ศึกษาถึงอุปสรรค ปัจจัยต่างๆ ของประเทศไทยที่ยังมีช่องว่าง และโอกาสของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์มาบูรณาการในการพัฒนาจนเป็นที่มาของการริเริ่ม 3 เมกะโปรเจกต์งานวิจัยประจำปี 2561 ดังนี้

รศ.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.

1.SCI for AGRICULTURE : วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร ต่อยอดศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทย ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การพัฒนากระบวนการทำการเกษตรของชาวบ้าน เกษตรกรที่มีโจทย์สำคัญในการทำงานคือ ต้องเป็น “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อประชาชน” ที่ชาวบ้านและเกษตรกรทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถดึงศักยภาพของปัจจัยแวดล้อมออกมาให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ในปี 2561 จะเป็นการนำร่องด้วย 2 โครงการหลัก คือ “โครงการกล้วยหอมทองปทุมธานี” การพัฒนา “กล้วยหอมทองจังหวัดปทุมฯ” พืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และ “โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วิถีเกษตรอินทรีย์ 4.0” โมเดลส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและใช้ต้นทุนต่ำลงถึง 2 เท่า

2.SCI for BIG DATA :วิทยาศาสตร์เพื่อการจัดการข้อมูล การพัฒนางานวิจัย เพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแส เมกะเทรนด์เทคโนโลยีของโลกในเรื่อง บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์ (Cloud) และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม เน้นการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้าหรือเซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล เพื่อใช้พัฒนาเป็นประโยชน์ ตลอดจนเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

3.SCI for OTOP/SMEs:วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสากล พร้อมตีตลาดภายในประเทศ และต่อยอดส่งออกไปยังต่างประเทศ

 

 

ที่่มา : www.bangkokbanksme.com