กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และธนาคารพัฒนาเอเซีย หรือ ADB จับมือผสานเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ จากฝีมือสตาร์ทอัพด้านเกษตรไทย 5 ราย ได้แก่ ไบโอม ลิสเซินฟิลด์ อีซี่ไรซ์บอร์นไทยแลนด์ และวาริชย์ เพื่อยกระดับการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน ด้วยการทำการเกษตรแม่นยำเพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่าการปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ผ่านมาการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมต้องอาศัยปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรม ผลผลิตลดลงแต่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากชาวนาต้องการพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการแปลงเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้
นอกจากนี้ยังพบว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการปลูกข้าวคือ ปัญหาภาวะโลกร้อน และความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มแรงงานในภาคเกษตร ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำนาลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร เช่น ดิน พันธุ์ข้าว แหล่งน้ำ การทิ้งช่วงของฝน และอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญตลอดฤดูกาลทำนา การเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยว รวมทั้งคุณภาพของผลผลิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมวิถีการทำนารูปแบบใหม่ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน เพื่อให้อุตสาหกรรมการเกษตรไทยสามารถเติบโตได้ในทุกการเปลี่ยนแปลง
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง
สตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA มีนวัตกรรมหลากลายที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการปลูกข้าว ผ่านการจัดทำโครงการ “ต้นแบบการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ดำเนินการในรูปแบบแปลงนาสาธิตจำนวน 12 ไร่ ณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank (ADB) ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร และเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการทำนาของเกษตรกรในช่วงฤดูเพาะปลูก”
ดร. กริชผกา กล่าวอีกเติมว่า หนึ่งในนโยบายของ NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” คือ การเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านเกษตร เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ทั่วประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่าน “Groom-Grant-Growth-Global” เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า
พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรให้มีความแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งการทำแปลงนาสาธิตจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและเปิดใจยอมให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมการปลูกข้าวสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้สตาร์ทอัพที่อยู่ภายใต้โครงการนี้มี 5 ราย ได้แก่ 1. ไบโอม: เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในกลุ่มของจุลินทรีย์คึกคักที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แบบเฉพาะเจาะจงให้สามารถฟื้นฟูคุณภาพดินจากสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน สามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ โดยลดความต้องการในการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงได้อย่างต่อเนื่อง 2. ลิสเซินฟิลด์: เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำด้วยข้อมูลเกษตรที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าววางแผนการเกษตรให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และลดการสูญเสีย
3. อีซี่ไรซ์: โซลูชันตรวจสอบพันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าวด้วย AI พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและตรวจสอบพันธุ์ข้าวเพื่อลดการเจือปนในการปลูก และเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยระบบตรวจวัดคุณภาพข้าวแบบดิจิทัลโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 4. บอร์นไทยแลนด์: แพลตฟอร์มตลาดสินค้าออนไลน์ สำหรับสินค้าชุมชนสนับสนุนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาทั่วไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สำหรับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ต้องการพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกได้ และ 5. วาริชธ์: บริการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง และสร้างช่องทางจำหน่ายออนไลน์และออฟไลน์แบบครบวงจร ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวรูปแบบใหม่ที่ใช้การทอดกรอบแบบสูญญากาศ เพื่อลดของเสียจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร”
ด้าน ดร. ศรีนิวะสัน อันชา (Dr. Srinivasan Ancha) ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank (ADB) กล่าวเสริมว่า ADB ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่า 170 โครงการ มูลค่า 26 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 858 พันล้านบาท ซึ่งโครงการสาธิตการปลูกข้าวยั่งยืนฯ เป็นหนึ่งโครงการที่ ADB ให้การสนับสนุน
เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมการปลูกข้าวในอนาคต ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการช่วยให้เกษตรกรพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคแม่โขงที่เรียกว่า Greater Mekong Subregion ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งหากโครงการสาธิตนี้ประสบความสำเร็จ ADB อาจขยายผลเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต เช่นเดียวกับโครงการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำคุณภาพสูงในเวียดนาม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์