ม.แม่โจ้ ร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทยและ วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เตรียมส่ง “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ชุบชีวีหลังน้ำลด” ช่วยผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ จะเริ่มแจกจ่ายในเฟสแรกประมาณเดือนตุลาคม 2567 ในพื้นที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย
รศ. ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รับมอบเงินสนับสนุนโครงการเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ชุบชีวีหลังน้ำลด จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 1,000,000 บาท โดยมี นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 63) เป็นผู้แทนมอบ และ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด โดยมี นายวิทย์วศิน เรียนวัฒนา ผู้อำนวยการใหญ่(บริการเดินอากาศส่วนภูมิภาค) เป็นผู้แทนมอบ ณ ห้องประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
.
รศ. ดร.วีระพล กล่าวว่า จากเหตุการณ์เกิดอุทกภัยในภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของเหตุการณ์นี้ จึงควรมีกระบวนการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในทุก ๆ พื้นที่อย่างเข้าถึงและเข้าใจ อันจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้
.
จึงได้จัดทำโครงการเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ชุบชีวีหลังน้ำลด เป็นการดำเนินงานร่วมกัน ของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ โดยได้รับความร่วมมือ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการแห่งประเทศไทย จำกัด ทางมหาวิทยาลัยจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว ที่ปลูกง่าย ใช้ช่วงเวลาสั้น
.
มีทั้งเมล็ดพันธุ์ผักมาจากผลผลิตทางการเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของศิษย์เก่า และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ เมล็ดพันธุ์ผักเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชีวิตประจำวัน รวมถึงการก่อให้เกิดรายได้อย่างรวดเร็ว ขอบคุณผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นอย่างสูง”
.
สำหรับการเตรียมแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ไปยังพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด จะเริ่มแจกจ่ายในเฟสแรกประมาณเดือนตุลาคม 2567 โดยเริ่มจากพื้นที่ผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ มีทีมงานของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมกับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สำรวจผู้ได้รับผลกระทบและส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้เพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต มีอาหาร มีรายได้ เพื่อดำรงชีวิตต่อไป