สทนช. เชิญรองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ผู้แทน MRCS ร่วมประชุมและตรวจสถานการณ์ริมน้ำโขง บูรณาการหน่วยบริหารจัดการน้ำเฝ้าระวังสถานการณ์พายุและฝนตกเพิ่มช่วง ก.ย.-ต.ค. ประสาน MRC เตรียมพร้อมรับมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนล่วงหน้ายกของขึ้นสูง วางแผนบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์
วันที่ 19 กันยายน 2567 ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 9/2567 โดยมี นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด และพื้นที่ภาคเหนือ 12 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมเจ้าท่า กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระใส ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดหนองคาย จ.หนองคาย และประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเลขาธิการ สทนช. และคณะผู้เข้าร่วมประชุม ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.หนองคาย ในจุดต่างๆ ได้แก่ จุดสูบน้ำประตูระบายน้ำวัดหายโศก ชุมชนหายโศก สถานีสูบน้ำวัดพระธาตุหล้าหนอง ชุมชนวัดธาตุ ศูนย์สำรวจอุทกวิทยา หนองคาย (สถานีวัดน้ำ MRC หนองคาย)
ดร. สุรสีห์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้มอบหมาย สทนช. ในการบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการสถานการณ์และเข้าช่วยเหลือพื้นที่รับผลกระทบ ได้แก่ การกู้คืนระบบประปา การเร่งระบายน้ำท่วมขัง การทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น สำหรับการประชุมในวันนี้ได้เชิญท่านสีวันนะกอน มะลิวัน รองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว (LNMCS) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านน้ำของประเทศลาว เข้าร่วมประชุมและร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจุดต่างๆ เพื่อได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทยและการเตรียมการรับมือของหน่วยบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย เพื่อได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างเป็นเอกภาพต่อไป
ในประชุมวันนี้ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์พายุและฝนที่จะเกิดขึ้นในช่วง ก.ย. – ต.ค.67 ซึ่งขณะนี้ เกิดพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (ทางตะวันออกของประเทศเวียดนาม) และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซูลิก” ในวันนี้แล้ว คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงเช้าตรู่วันที่ 20 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตอนกลาง และภาคเหนือตอนล่าง
ประกอบกับจะเกิดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรงพัดเข้าหาพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก (จ.นครนายก ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ) และภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน (จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล) มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ซึ่งที่ประชุมได้วางแผนเตรียมการพื้นที่รับผลกระทบทุกแห่งรองรับสถานการณ์ในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบและเกิดความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่า แหล่งน้ำทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 54,299 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% โดยแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมากทั่วประเทศ 147 แห่ง โดยมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อ่างเก็บน้ำแม่จาง ปริมาณน้ำ 96% อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ปริมาณน้ำ 80% และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ปริมาณน้ำ 75% สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำภาคเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ และลุ่มน้ำยม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งที่ อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย สำหรับลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้ระดับเริ่มน้ำลดลง
จากการคาดการณ์พบว่าระดับน้ำอาจเพิ่มขึ้นแต่จะไม่สูงกว่าระดับตลิ่งมากนัก ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และระดับน้ำในคลองห้วยหลวงที่ล้นตลิ่งอยู่ในปัจจุบัน จากการคาดการณ์ 7 วันล่วงหน้าพบว่าระดับน้ำจะสูงกว่าระดับตลิ่งแต่ไม่มากนัก โดยจะส่งผลกระทบพื้นที่ริมคลองครอบคลุมพื้นที่ 53.30 ตร.กม. สำหรับสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บางระกำ ระดับน้ำที่สูงกว่าตลิ่งได้ลดระดับลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ พื้นที่ทุ่งบางระกำเก็บกักน้ำไปแล้ว 47%
ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก พบว่า เขื่อนภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไม่เกิน 60% ยังรองรับน้ำได้อีกมาก ยกเว้นเขื่อนสิริกิติ์ขณะนี้ปริมาณน้ำ 84% จึงต้องมีการปรับแผนการระบายโดยต้องมีความยืดหยุ่นรับการสถานการณ์และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยในช่วงวันที่ 11 – 17 กันยายน 2567 จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ภาคใต้ 1 จังหวัด ส่วนใหญ่กลับสู่สถานการณ์ปกติแล้ว คงเหลืออีก 6 จังหวัด ได้แก่ จ. เชียงราย พิษณุโลก หนองคาย บึงกาฬ พระนครศรีอยุธยา และสตูล อยู่ระหว่างการช่วยเหลือและฟื้นฟูให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงนั้น สำนักงานเลขาธิการกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำร่วมกับประเทศจีน ประเทศเมียนมา และประเทศสมาชิก MRC อย่างใกล้ชิด โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อนำไปสู่การประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด สทนช. ได้รับข้อมูลคาดการณ์จาก MRC ว่าในวันที่ 23 – 24 ก.ย.67 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้นประกอบกับปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกเพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าว จะส่งผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะที่ จ.นครพนม และ จ. อุบลราชธานี (อ. โขงเจียม)
“ในการประชุมวันนี้ ได้แจ้งให้ทั้งสองจังหวัดพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการล่วงหน้าเชิงป้องกัน ได้แก่ การแจ้งเตือนประชาชนเตรียมยกของขึ้นสูง เตรียมความพร้อมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงวางแผนการระบายน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว