เมื่อเวลา เวลา 08.19 น. วันที่ 17 กันยายน 2567ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถือฤกษ์ในเวลา 08.19 น. เข้าสักการะห้องพิรุณ 130 (ห้องพระ อาคาร 1 ชั้น 4) สักการะศาลพระภูมิชัยมงคล สักการะศาลท้าวเวสสุวรรณ สักการะศาลตา – ยาย สักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (หน้าอาคาร) และสักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (ห้องพิพิธภัณฑ์) ก่อนถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ บริเวณหน้าอาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องเร่งด่วน ทั้งในเรื่องการสำรวจความเสียหายของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ และความรวดเร็วในการเยียวยาพี่น้องประชาชน โดยจะหารือถึงวิธีการให้สามารถชดเชยความเสียให้กับพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ในเบื้องต้นที่ประชุมได้มีการเสนอในเรื่องการลดค่าน้ำค่าไฟให้พื้นที่ที่ประสบอุทกภัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยให้มีการป้องกันมากกว่าการเยียวยา ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนและเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของรัฐบาล จึงขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันและรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขนาดใหญ่ ได้ขอให้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เป็นประธานคณะกรรมการที่จะศึกษาทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่กรมชลประทานได้เคยศึกษาไว้ เพื่อนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
รวมถึงจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่สำเร็จลุล่วง จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ มุ่งหวังว่าโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นโครงการของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้าไปเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้โครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ถึงความจำเป็น โดยต้องรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน ทั้งข้อดี ข้อเสีย และการชดเชยต่าง ๆ
สำหรับการแก้ไขในระยะเร่งด่วน กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยติดตามการพยากรณ์ เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตือนภัยต่อพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ตรวจสอบความพร้อมในเรื่องของประตูระบายน้ำและคันกันน้ำ จึงขอให้ความมั่นใจว่าประตูระบายน้ำและคันกันน้ำมีความเข้มแข็งและป้องกันได้อย่างแน่นอน