ก.เกษตรฯ ระดมทรัพย์กำลังทั้ง รถยนต์ เรือ ฮ. โดรน เครื่องบิน เครื่องจักร ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ (สรุปการช่วยเหลือ)

  •  
  •  
  •  
  •  

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงรายหนักที่สุดที่ต้องระดมความช่วยขนย้ายผู้ประสบ จ่ายสิ่งของถุงยังชีพ น้ำ ระดมทั้งรถยนต์ เรือ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน โดรน  เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรอย่างเต็มที่

 ในหลวงทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม

        วันที่ 13 กันยายน 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกัน ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน  เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม เนื่องจากในช่วงเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยแล้วหลายจังหวัด โดยเฉพาะ จ.เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า จากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านองคมนตรีจึงได้มาติดตามสถานการณ์น้ำว่ากระทรวงเกษตรฯ มีแผนในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างไร และอยากดูการคาดการณ์ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว พร้อมให้คำแนะนำแนวทางแก่กระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน ในการวางแผนระยะสำหรับการป้องกันปัญหาอุทกภัยรวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

“อัครา”ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม-มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย

วันเดียวกัน นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหารกระทรวงเกษตรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือทั้งที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เชียงราย และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมทั้งมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ที่ จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย ถุงยังชีพจำนวน 500 ชุด รวมถึงสิ่งของช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ น้ำดื่ม ข้าวสารอาหารแห้ง และหญ้าเลี้ยงสัตว์พระราชทาน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยส่วนที่ จ.เชียงราย มอบถุงยังชีพ จำนวน 1,500 ชุด ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “ยางิ” ในช่วงวันที่ 9-11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

กรมชลระดมเครื่องจักร

ทางกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำที่ค้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ กำจัดดินโคลนและขยะที่ติดค้างตามชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน

ฝนหลวงฯ ส่ง ฮ. – เครื่องบิน ลำเลียงอาหาร น้ำดื่ม

​ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้จังหวัดเชียงรายได้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ดินถล่ม ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง จึงได้สั่งการให้นำอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทั้ง เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ รุ่น AS350 และ BELL407 ขน 10 เที่ยวบิน เครื่องบินขนาดใหญ่ชนิด CN จำนวน 1 ลำ และขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ลำเลียงสิ่งของ อาหาร น้ำดื่ม 3 เที่ยวบิน ส่งไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อแจกจ่ายต่อให้กับพี่น้องประชาชน โดยตั้งแต่วันที่ 11-12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 3,000 ชุด

กรมวิชาการเกษตร ส่งรถปฏิบัติการเคลื่อนที่-โดรนยักษ์ 4 ลำ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ทางกรมวิชาการเกษตร ส่งได้ขบวนคาราวานรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ “กรมวิชาการเกษตร ร่วมแบ่งปันน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม” พร้อมนำโดรนเกษตรขนาดใหญ่ 4 ลำ ที่มีขนาดความจุ 50 ลิตร ที่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม/เที่ยว ไปปฏิบัติภารกิจบินสำรวจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือที่ตกค้าง พร้อมส่งถุงยังชีพ น้ำ อาหาร ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่รถและเรือไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้

กรมประมง…ส่งทีมเรือตรวจการประมง 14 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 24 ชั่วโมง

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า…นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง สั่งจัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมนำเรือตรวจการประมง จำนวน 14 ชุดปฏิบัติการ อาทิ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดลำปาง ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพิษณุโลก ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดนครราชสีมา บูรณาการร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดเชียงรายออกให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และครัวเรือนเปราะบาง ออกจากพื้นที่น้ำท่วมหนักให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะจุดที่เข้าถึงยาก เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้แก่พี่น้องประชาชนในเบื้องต้น

ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กองตรวจการประมง” หรือติดต่อได้ที่กองตรวจการประมง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 06 1995 1991 ตลอด 24 ชั่วโมง