กรมวิชาการเกษตร ส่งขบวนคาราวานรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ “กรมวิชาการเกษตร ร่วมแบ่งปันน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม” พร้อมนำโดรนเกษตรขนาดใหญ่ 4 ลำ ที่มีขนาดความจุ 50 ลิตร ที่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม/เที่ยว ไปปฏิบัติภารกิจบินสำรวจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือที่ตกค้าง พร้อมส่งถุงยังชีพ น้ำ อาหาร ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่รถและเรือไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย จึงได้สั่งการกรมวิชาการเกษตรเร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนคาราวานรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ “กรมวิชาการเกษตร ร่วมแบ่งปันน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม”
โดยนำโดรนเกษตร จำนวน 4 ลำ ขนาดความจุ 50 ลิตร ที่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม/เที่ยว/ลำ เพื่อปฏิบัติภารกิจบินสำรวจผู้ประสบภัยที่ตกค้าง พร้อมส่งถุงยังชีพ น้ำ อาหาร ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่รถและเรือไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งหลายจุดเกิดน้ำท่วมขังจากน้ำในแม่น้ำที่ไหลล้นตลิ่งทำให้การเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง ที่ร่วมลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และพร้อมให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร และประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น โดยสนับสนุนอาหารกล่อง น้ำดื่ม
นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยร่วมกันจัดตั้งศูนย์พิรุณราชชั่วคราว ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย เพื่อรับรองเรื่องราวร้องทุกข์ และช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภาวะอุทกภัยในครั้งนี้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายและภาคเหนือตอนบนในครั้งนี้หนักมาก ถือเป็นภัยพิบัติที่เหนือความคาดหมาย สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรเป็นวงกว้าง กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชสวน ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเหลืองฝักสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน พริก มะเขือเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นการเยียวยา ฟื้นฟู และเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรภายหลังประสบอุทกภัย
พร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยให้สามารถพื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่เสียหายอย่างถูกวิธีหลังน้ำลด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในการลงพื้นที่ให้คำแนะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากผลงานวิจัยกว่า 50 ปีแก่เกษตรกร โดยชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ปฏิบัติการฟื้นฟูสวนไม้ผลและพันธุ์พืชให้กับเกษตรกรภายหลังประสบอุทกภัย จะลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านการจัดการพื้นที่หลังน้ำลดพร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต
“ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชน เกษตรกร และพวกเราชาว DOA Together ที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะด่านตรวจพืชที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย และพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทุกท่านปลอดภัย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว