พด.เดินหน้าสร้างแหล่งน้ำในไร่นาเกษตรกรบรรเทาภัยแล้ง ปี 67 ตั้งเป้าขุดอีกกว่า 2.8 หมื่นบ่อ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมพัฒนาที่ดินเดินหน้าสร้างแหล่งน้ำในไร่นาฯเกษตรกรบรรเทาภัยแล้ง เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ ตั้งเป้าปี 67 ขุดสระน้ำไร่นาอีก 28,200 บ่อ จะสามารถบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรมได้ 56,400 ไร่

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำในไร่นาบรรเทาผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงหรือภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตทางเกษตรได้โดยใช้น้ำจากสระน้ำในไร่นาและเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้

ด้วยวิธีการขุดสระน้ำขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ทำการเกษตรที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เป็นโครงการที่เกษตรกรยื่นความประสงค์ขอรับการสนับสนุนแหล่งน้ำ และกรมพัฒนาที่ดินพิจารณาศักยภาพของพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ คุณภาพของน้ำ รวมทั้งความพร้อมของเกษตรกรในการกำหนดพื้นที่ขุดสระน้ำ และให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบการขุดสระน้ำ บ่อละ 2,500 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2547

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการฯ นับแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สามารถบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ประมาณ 693,193 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1.3863 ล้านไร่ หรือคิดเป็นปริมาตรการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 873.4231 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนในปี 2567 มีเป้าหมายในการดำเนินงานขุดสระน้ำไร่นา 28,200 บ่อ จะสามารถบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ประมาณ 28,200 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 56,400 ไร่ หรือคิดเป็นปริมาตรการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 35.532 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตามจากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาจนประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ดังเช่น ในพื้นที่ของเกษตรกร อย่าง นายมาเนตร สมศักดิ์ หมู่ที่ 3 ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2566 เดิมที่ดินเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีการปลูกไม้ผล และหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตรกรรม จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อรับการสนับสนุนแหล่งน้ำจากกรมฯ

หลังจากได้รับการสนับสนุนแล้ว ส่งผลทำให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรม และยังสามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำและทำปศุสัตว์ได้อีกด้วย โดยมีรายได้จากสินค้าปศุสัตว์ประมาณ 150,000 – 250,000 บาทต่อปี ถือเป็นการสร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์พื้นที่ และสร้างความมั่นคงในชีวิต

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในไร่นาฯ จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น เช่น ปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และชะลอการสะสมของตะกอนในบ่อ ซึ่งจะทำให้การเก็บกักปริมาณน้ำในบ่อน้อยลง ควรตรวจสอบสภาพ ปริมาณและคุณภาพน้ำในบ่ออย่างต่อเนื่อง หากปริมาณน้ำในบ่อน้อย เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อช่วงฤดูฝน โดยกำหนดทิศทางการไหลของน้ำฝน ในพื้นที่อื่นให้ไหลเข้าบ่อมากที่สุด

ส่วนในฤดูแล้งมีวิธีเติมน้ำลงบ่อโดยสูบน้ำใต้ดิน ด้วยระบบโซล่าเซลล์เพื่อสะสมน้ำในบ่อให้เพียงพอต่อกิจกรรมทางการเกษตร ในด้านรักษาคุณภาพน้ำสามารถใช้ปัจจัยการผลิตของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำในไร่นาอย่างถูกต้องเหมาะสม เกษตรกรและท่านที่สนใจ โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน สามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศ