“ธรรมนัส” นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ฯเดินหน้าแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ต่อยอดสู่กลุ่มเกษตรเข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ครั้งที่ 1 / 2567 โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมประชุมณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (123)
สำหรับโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ฯ มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกร โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรแก่ประเทศคู่ค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
1) กลั่นกรองผู้เข้ารับการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรวบรวมจำนวนเกษตรกรและประสานข้อมูลกับ ธ.ก.ส. เพื่อออกแบบหลักสูตรฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพตามความเหมาะสม ซึ่งในปี 2567 ได้กำหนดเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 300,000 ราย ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่บันทึกความต้องการพัฒนาอาชีพแล้ว จำนวน 100,344 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2567)
2) กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย จัดทำเมนูอาชีพเพื่อพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูรายได้ให้แก่เกษตรกร
เพื่อขยายโอกาสการเพิ่มรายได้ และพัฒนาแนวทางการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสิ้น 52 เมนูอาชีพ ดังนี้ การพัฒนาอาชีพเดิม จำนวน 5 เมนูอาชีพ และการสร้างอาชีพเสริม จำนวน 47 เมนูอาชีพ
3) สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตร และเทคโนโลยี รวมถึงวิทยากรในการฝึกปฏิบัติพัฒนาอาชีพความเหมาะสม ของแต่ละหลักสูตร อีกทั้งร่วมจัดทำแผนการตลาดเชื่อมโยงช่องทางการขาย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ร้อย ธรรมนัส กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ฯ ขอให้ทุกภาคส่วนมีการทำงานในรูปแบบบูรณาการ เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของกลุ่มเกษตรกรอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยส่งเสริมการต่อยอดอาชีพจากทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้มีการต่อยอดอย่างมั่นคงและเป็นการเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในด้านการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรแก่ประเทศคู่ค้า รวมถึงมีความสามารถในการต่อรองทางการตลาดมากขึ้น ตลอดจน การตอบวัตถุประสงค์สำคัญในการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรให้มีความสามารถในการชำระหนี้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15% อีกด้วย